นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทุกแห่ง แจ้งขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมในกำกับดูแล ให้ปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เดินทางท่องเที่ยว หรือไปยังพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มของคนเป็นจำนวนมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อย่างเคร่งครัด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน มีแนวโน้มแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว
“เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด กระทรวงฯ ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงหน่วยงานในสังกัดและสถานประกอบการโรงงานในกำกับกว่า 60,000 โรง เพื่อขอความร่วมมือให้แจ้งประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าหน้าที่ฯ และพนักงาน ก่อนที่จะหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรค COVID-19 ด้วยมาตรการ D-M-H-T-T ( D – Distancing : อยู่ห่างไว้ M – Mask wearing : ใส่แมสก์กัน H – Hand wash : หมั่นล้างมือ T – Testing : ตรวจวัดอุณหภูมิ และ T – Thai Cha na : ใช้แอปฯ ไทยชนะ) อย่างเคร่งครัด และเมื่อพนักงานกลับมาปฏิบัติงานให้ทำการคัดกรองพนักงานทุกคนผ่านแอปพลิเคชัน Thai Save Thai
รวมทั้งสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และพิจารณาดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) เพื่อให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงฯ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนด้านองค์ความรู้ การให้คำปรึกษาแนะนำ และการตรวจประเมินตามแผนป้องกันโควิด-19 ของผู้ประกอบกอบการ ส่วนความก้าวหน้าของสถานประกอบการที่ดำเนินมาตรการ Bubble and seal ในขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีโรงงานเข้าร่วมจัดทำ Bubble and seal จำนวนทั้งสิ้น 1,633 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,500 แห่งภายใน ปี 2564” นายกอบชัย กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินการมาตรการ Bubble and seal ทาง http://i-safefactory.industry.go.th และให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดติดตามและรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าว ได้แก่ 1. การเข้าไปใช้งานในระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2. การอบรมและการให้คำแนะนำ (Training & Coaching) และ 3. การจัดทำ Bubble and seal ของผู้ประกอบการ โดยระยะที่ 2 (มกราคม – มีนาคม 2565) เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 5 ประเภท คือ อุตสาหกรรมอาหาร ยาง อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ และที่ใช้แรงงานต่างด้าวเข้มข้น ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดประชุมในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของสถานประกอบการโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ในการกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 64,535 แห่ง พบการติดเชื้อจำนวนรวม 1,359 แห่ง แรงงานติดเชื้อ 82,435 คน หายป่วยสะสม 78,874 คน คิดเป็นร้อยละ 96 โดยอยู่ระหว่างการรักษาตัว จำนวน 3,561 คน