ชลบุรี-นายบุญธรรม ไกรศรศรี วิศวกรโยธาชำนาญพิเศษ กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสรุปผลการสำรวจและออกแบบโครงการ (การประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3) งานสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) – ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ตอน 1 ส่วนที่ 2 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาข้อมูลรายละเอียดการออกแบบ ทั้งรูปแบบการพัฒนาโครงการ รูปแบบการเชื่อมต่อกับโครงข่ายการคมนาคมสายหลัก รูปแบบที่พักริมทาง รูปแบบด่านเก็บค่าผ่านทางรูปแบบการเชื่อมต่อด้านการคมนาคมในท้องถิ่น มาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโดยมีผู้สนใจทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชนในพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่เข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน
ทั้งนี้ กรมฯ ได้นำเสนอผลสรุปของรูปแบบการพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย รูปแบบการพัฒนาทางหลวงพิเศษของโครงการ โดยออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร (3 ช่องจราจรต่อทิศทาง) ส่วนช่วงที่แนวเส้นทางซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 331 พิจารณาออกแบบเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (3 ช่องจราจรต่อทิศทาง) และช่วงที่แนวเส้นทางโครงการตัดผ่านพื้นที่ชุมชนหรือซ้อนทับกับแนวถนนท้องถิ่นเดิม พิจารณาออกแบบเป็นทางบริการขนาด 2 ช่องจราจร
โดยรูปแบบจุดพักรถ (Rest stop) กำหนดให้มีจุดพักรถ 1 แห่ง ได้แก่ จุดพักรถ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมทั้งได้ออกแบบให้มีจุดจอดรถฉุกเฉินในทุกๆ 4-6 กม. ตลอดแนวโครงการ รูปแบบด่านเก็บค่าผ่านทาง กำหนดให้มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง ได้แก่ ด่านหนองใหญ่ มีช่องเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 12 ช่อง แบ่งเป็น ขาเข้า 5 ช่อง ขาออก 7 ช่อง และด่านบ่อทอง มีช่องเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 8 ช่อง แบ่งเป็นขาเข้าและขาออกฝั่งละ 4 ช่อง
พร้อมทั้งยังมีการออกแบบการเชื่อมต่อด้านคมนาคมในท้องถิ่น เป็นทางข้าม (Overpass) ทางลอด (Underpass) และทางบริการ (Service Road) ในบางช่วงของโครงการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแนวเส้นทางของโครงการ ส่วน ทางแยกต่างระดับเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายการคมนาคมสายหลัก มี 2 จุด ได้แก่ ทางแยกต่างระดับหนองใหญ่ (เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 344) รองรับการเดินทางเชื่อมต่อจากพื้นที่ อ.หนองใหญ่ ไปยัง จ.ปราจีนบุรี และเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และ ทางแยกต่างระดับบ่อทอง (เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 3340) เพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อจากพื้นที่ อ.บ่อทอง ไปยัง จ.ปราจีนบุรี และเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้กำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ดังนี้ คือ ในระยะเตรียมการก่อสร้างและระยะก่อสร้าง พิจารณาให้มีการติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวลักษณะทึบ บริเวณพื้นที่อ่อนไหวที่มีค่าระดับเสียงในระยะก่อสร้างเกินค่ามาตรฐาน ส่วนในระยะที่เปิดให้บริการแล้วพบว่าระดับเสียงจากการจราจรของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมีค่าใกล้เกินเกณฑ์มาตรฐาน จึงกำหนดให้มีการติดตามตรวจสอบระดับเสียงเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบด้านเสียงและพิจารณาให้มีการติดตั้งกำแพงกันเสียงชนิดอะคิลิคใสเฉพาะบริเวณที่มีระดับเสียงจากการจราจรเกินค่ามาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังออกแบบสะพานข้ามแหล่งน้ำผิวดิน จำนวน 9 แห่ง โดยไม่มีการก่อสร้างตอม่อลงในแหล่งน้ำ เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงอุทกวิทยาน้ำผิวดินจากสภาพปัจจุบัน และมีการติดตั้งรางตื้นบนโครงสร้างทางยกระดับบนถนนทางหลวงหมายเลข 331 เพื่อรวบรวมน้ำแล้วระบายลงสู่ระบบระบายน้ำของถนนทางหลวงหมายเลข 331 หรือห้วยหุบบอน สำหรับแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่เกษตรกรรมได้มีการออกแบบทางลอดให้มีขนาดความสูงเพียงพอต่อการใช้งานของรถบรรทุกตู้คอนเทรนเนอร์ และรถบรรทุกผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่