เมื่อไม่นานมานี้ หลายท่านคงได้ทราบข่าวว่า The World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) ได้มีการรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 33 ลดลงมา 5 อันดับ จากอันดับที่ 28 ในปี 2564 โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้ลดลงทุกปัจจัยทั้ง 4 ด้าน ขอจำแนกตามลำดับที่ลดลงมากที่สุดก่อน ได้แก่ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (ลดลง 13 อันดับ) ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (ลดลง 11 อันดับ) ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (ลดลง 9 อันดับ) และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ลดลง 1 อันดับ)
แนวทางการยกระดับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่จำแนกไว้ทั้ง 4 ด้านนั้น โดยประเด็นที่จะขอกล่าวถึงคือ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ เนื่องจากภาคธุรกิจถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากภาพตารางข้างต้นนี้สามารถสะท้อนให้เห็นว่า ภาคธุรกิจของประเทศกำลังอ่อนแอลง โดย IMD ได้รายงานถึงปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ พบว่า ปัจจัยย่อยด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Productivity) ในปี 2565 หล่นมาอยู่อันดับที่ 47 ถือว่าต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับปี 2564 ในอันดับที่ 40 ซึ่งลดลงมาถึง 7 อันดับ เมื่อเทียบกับปัจจัยย่อยอื่น ๆ
คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจของเราให้เข้มแข็งขึ้นได้ ?
ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมได้ก้าวเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) หรือ อุตสาหกรรม 4.0 ที่มุ่งเน้นการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยการบูรณาการระบบเทคโนโลยีการเชื่อมต่อทางเครือข่าย Internet of Things (IoT) เข้ากับทุกหน่วยของระบบการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างอิสระ ซึ่งเป็นระบบที่รวมความสามารถของเทคโนโลยีการผลิตเข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้มีความสามารถในการคำนวณ ประมวลผลข้อมูลการผลิตได้แบบเรียลไทม์ (Real Time) ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เป็นกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความรวดเร็ว คล่องตัว มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสามารถผลิตของได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการ
ในแง่มุมของประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในองค์กรนั้น McKinsey ได้ทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 ของผู้ประกอบการในแถบอาเซียน โดยทำการสำรวจผู้บริหารระดับสูงกว่า 200 องค์กร ทั่วทั้ง 10 ประเทศที่รวมตัวกันเป็นสมาคมของประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) พบว่า ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใหญ่ที่สุด 5 อุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 สามารถทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เพิ่มผลิตการผลิต (Productivity) ได้สูงขึ้น 10-50 % โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาและเภสัชกรรม สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ได้สูงถึง 50 % และส่งผลให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์โดยรวม (Overall Equipment Effectiveness: OEE) สูงขึ้น 10-20 %
นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดคุณค่าต่อภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการและภาคสังคม ตัวอย่างเช่น การบริการทางด้านโลจิสติกส์ ที่มีชื่อเรียกว่า Smart Logistics ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0 ให้เกิดนวัตกรรมการให้บริการขนส่ง เช่น Amazon ให้บริการผ่าน Prime Now, ระบบ Smart Transportation ของสิงคโปร์
แนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 ถูกประกาศเป็นนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ ที่เรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น สหรัฐอเมริกากำหนดทิศทางของประเทศไปสู่ประเทศผู้ผลิต (A Nation of Makers), อังกฤษวางนโยบายด้านการออกแบบนวัตกรรม (Design of Innovation), อิตาลีวางโมเดลโรงงานแห่งอนาคต (Fabbrica del Futuro), จีนประกาศนโยบายอุตสาหกรรมยุคใหม่ ค.ศ. 2025 (Made in China 2025), เกาหลีใต้วางโมเดลนวัตกรรมการผลิต (Manufacturing Innovation 3.0), ญี่ปุ่นวางโมเดลเศรษฐกิจการเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรม (Industry Value Chain Program) และไต้หวันวางกลยุทธ์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity 4.0) เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าการใช้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มักอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีข้อจํากัดด้านแรงงานเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่กำลังพัฒนาก็ตระหนักถึงความสำคัญของการผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรม 4.0 เช่น ประเทศมาเลเซียวางโมเดลการพัฒนาประเทศ ค.ศ. 2020 (Development Country 2020) ส่วนประเทศไทยเองก็ได้เร่งผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ 4.0 (Thailand 4.0) ซเพื่อให้ประเทศไทยออกจาก “กับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง” และมุ่งสู่ประเทศรายได้สูงภายในปี 2579 ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ
ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านความร่วมมือ
ภาครัฐและภาคเอกชนต่างตระหนักและเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) โดยได้ทยอยออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเร่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านความร่วมมือระหว่างองค์กร เช่น โครงการThailand i4.0 Index (โครงการการประเมินสถานภาพและศักยภาพขององค์กรในปัจจุบัน ตามแนวทาง Industry 4.0 ด้วยเครื่องมือชุดดัชนีชี้วัดสำหรับประเทศไทย) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันตามแนวทาง Industry 4.0
ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งเป็นตัวชี้วัดศักยภาพและความสามารถในการเจริญเติบโตในด้านต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้ประเทศยืนบนเวทีการแข่งขันที่สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนตลอดเวลาเช่นนี้ ยิ่งเป็นความท้าทายในการยกระดับขีดความสามารถเลยทีเดียว
โดย : สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย