นายมอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co., Ltd. หรือ TSMC ผู้ผลิตชิปเซมิคอนดัคเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้กล่าวระหว่างเดินทางไปร่วมพิธีติดตั้งเครื่องจักรเครื่องแรกภายโรงงานของ TSMC ที่รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ ในปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ไปอย่างสิ้นเชิง พร้อมกล่าวด้วยว่า “ใกล้หมด ยุคโลกาภิวัตน์(Globalization)และการค้าเสรี และจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป”
ทั้งนี้ การก่อตั้งโรงงานที่ผลิตชิปในรัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ถือเป็นการสร้างโรงงานผลิตชิปที่ทันสมัยแห่ง แรกในรอบ 20 กว่าปีของ TSMC บนดินแดนสหรัฐฯ โดยนายมอริสฯ กล่าวว่าการติดตั้งเครื่องจักรในครั้งนี้ถือ เป็นเพียงก้าวแรกสู่ความสำเร็จ ที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายอีกมากมาย TSMC ได้เริ่มลงทุนใน สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1995 ซึ่งในตอนนั้นเพิ่งก่อตั้งบริษัทได้เพียง 8 ปี และชี้ว่า 27 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ได้เป็นประจักษ์พยานถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นบนโลก จากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ยุคของโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีก็ใกล้จะจบสิ้น
หลายคนยังหวังจะให้สิ่ง ต่างๆ เปลี่ยนกลับมาเป็นดังเดิม แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า มันจะไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมได้อีก โดยในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างก็เป็นกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันตึงเครียดในประเด็นด้านเซมิคอนดัคเตอร์ระหว่าง สหรัฐฯ-จีน ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยมาตรการกีดกันล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ TSMC และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์มีความยากลำบากในการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการจีน ซึ่งส่งผลเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี การลงทุนในสหรัฐฯ โดยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ของ TSMC สะท้อนถึงความกังวลของสหรัฐฯ ต่อการที่จีนอาจใช้กำลังเข้าครอบครองไต้หวัน และความต้องการที่จะ localized หรือพึ่งพาการใช้วัตถุดิบในประเทศ
ทั้งนี้ คำกล่าวของนายมอร์ริส จางเกี่ยวกับการล่มสลายของระบบโลกาภิวัตน์เริ่มแสดงผลให้เห็น อย่างชัดเจนมากขึ้น ผ่านตัวเลขมูลค่าการนำเข้าส่งออกของไต้หวันในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากเดิมที่ไตร มาส 4 เป็นช่วง High Season ของการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน แต่สำหรับในปีนี้ กลับมีทีท่าว่าจะมีการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง โดยมูลค่าการส่งออกรวมของไต้หวันเดือนพฤศจิกายนปีนี้ก็หดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และคาดการณ์ว่าตัวเลขในเดือนธันวาคม ก็อาจหดตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าส่งออกของไต้หวันในไตรมาส 4 มีแนวโน้มหดตัวลง
โดยมีสาเหตุมาจากการที่ทั่วโลกยังมีปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ทำให้แต่ละประเทศต่างต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อันเป็นการส่งผลให้ความต้องการบริโภคในตลาดลดลง ประกอบกับนโยบายซีโร่โควิดของจีนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง ไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งแม้แต่การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 42 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อและหันไปเร่งระบายสต็อกที่สั่งสินค้ามาเก็บไว้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าอาจต้องรอถึงครึ่งปีแรกของปีหน้ากว่าที่จะกลับมาอยู่ในภาวะปกติอีกครั้ง
แหล่งที่มา: Commercial Times / Central News Agency (December 8, 2022)
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)