กล่าวได้ว่า ปในปัจจุบันยังมีรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนหรือพลังงานไฟฟ้าเพียงจำนวนน้อยมากหากเปรียบเทียบกับรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ท้องถนนได้จริง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจากงานแสดงสินค้ามอเตอร์โชว์นานาชาติ (International Motor Show – IAA) ของประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 25 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ เมืองฮันโนเวอร์ โดยมีการจัดแสดงรถบรรทุกไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลระบุว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถบรรทุกไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเท่าไหร่นัก ขณะที่แนวโน้มด้านการปรับเปลี่ยนสู่เชื้อเพลิงแห่งอนาคตทั้ง พลังงานไฮโดรเจน และไฟฟ้า ยังคงมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงดีเซลไปสู่พลังงานสะอาดในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
นาย Martin Daum ผู้จัดการฝ่ายรถบรรทุกของบริษัท Daimler กล่าวว่า พวกเรามียอดสั่งซื้อแบ็คล็อก (backlog) สูงเป็นประวัติการณ์ ในประเทศสหรัฐอเมริกาจนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พวกเราสามารถจำหน่ายสินค้าได้เกือบหมด ส่วนของยุโรป คาดว่าจะสามารถขายสินค้าทั้งหมดได้ภายในกลางปีหน้า
ขณะที่ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนพนักงานขับรถเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทโลจิสติกส์หลายรายต้องการเปลี่ยนยานพาหนะที่หมดประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 13 ปี บริษัทตัวแทนขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ยังคงใช้รถบรรทุกพลังงานดีเซล เนื่องจากมีราคาถูกกว่ารถบรรทุกไฟฟ้าถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบของรัฐบาลเยอรมนีและอีกหลายๆ ประเทศที่เพิ่มมากขึ้นคาดว่าจะนำไปสู่การงดการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลในระยะกลางและระยะยาว ภายในปี 2025 ผู้ผลิตรถบรรทุกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยร้อยละ 15 และภายในปี 2030 คาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 การบรรลุเป้าหมายการปกป้องสภาพภูมิอากาศดังกล่าวจะสำเร็จได้ก็ด้วยการใช้แบตเตอรี่หรือเซลล์เชื้อเพลิง
กระนั้นผู้ผลิตกำลังเตรียมตัวปรับการผลิตรับกฎระเบียบใหม่ โดยนาย Alexander Vlaskamp ผู้บริหารบริษัท ผลิตยานพาหนะเชิงพาณิชย์ MAN กล่าวว่า พวกเราคาดว่าในปี 2030 ครึ่งหนึ่ง ของรถบรรทุกที่เราจำหน่ายจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และคาดว่าภายในปี 2025 ราคาสุทธิโดยเฉลี่ยสำหรับการครอบครองรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าน่าจะเทียบเท่าหรือต่ำกว่ารถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล ตรงกับความเห็นของ นาย Daumer ผู้จัดการบริษัท Daimler ซึ่งเชื่อว่า ภายในปี 2030 ส่วนแบ่งตลาดรถบรรทุกไฟฟ้า และเซลล์เชื้อเพลิงน่าจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60 ของยอดขายสุทธิ
อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้ความต้องการรถบรรทุกไฟฟ้ายังไม่พุ่งสูงมากนัก ในปัจจุบันสถานีชาร์จพลังงานส่วนใหญ่เป็นแบบ 300 กิโลวัตต์ แต่สำหรับรถบรรทุกต้องการ 700 กิโลวัตต์หรือ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสถานีชาร์จพลังงานดังกล่าว
ทั้งก่อนนี้ บริษัท Daimler และ Volvo ได้กำลังร่วมมือกันในการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เนื่องจากมองว่ายุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานระหว่างไฟฟ้าและเซลล์เชื้อเพลิงจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ไปถึงเป้าหมายได้
นาย Vlaskamp แสดงความเห็นอีกว่า ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นของหายาก ด้วยเหตุนี้จึงมองว่า เซลล์เชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนน่าจะใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะสามารถนำมาผลิตในระดับใหญ่ที่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมขนส่ง และคาดการณ์ว่า รถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงจะไม่สามารถสร้างกำไรได้ในการใช้งานปริมาณมากจนกระทั่งต้นหรือกลางทศวรรษ 2030 อย่างเร็วที่สุด
ที่มา: tagesschau.de
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต