นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านวิชาการ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมกิจกรรมด้านการค้าและการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ที่ผ่านมาร้อยละ 80 ของการขนส่งสินค้า อาศัยการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำและสามารถ
ขนสินค้าได้ในปริมาณมากเมื่อเทียบกับการขนส่งในรูปแบบอื่น ประกอบกับประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์การขนส่ง เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมี 23 จังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเล สามารถใช้ประโยชน์จากทะเลในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร โดยการขยายตัวของภาคการขนส่ง ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid 19) พบว่ามีปริมาณการขนส่งทางน้ำเพิ่มมากขึ้น
เรือนับว่าเป็นยานพาหนะที่มีบทบาทสำคัญในการขนส่ง โดยขนาดของกองเรือสะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถด้านการขนส่งของประเทศ กรมเจ้าท่าได้วางนโยบายเพื่อการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย โดยยกระดับให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ตลอดจนจัดระบบข้อมูลของกองเรือพาณิชย์นาวีไทยให้มีความทันสมัย เพื่อกำกับดูแลกองเรือให้มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน กรมเจ้าท่า โดยสำนักมาตรฐานทะเบียนเรือ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ประมวลผลและจัดการข้อมูลกองเรือ ภายใต้ระบบบูรณาการข้อมูลกิจการทางทะเล (Thai Integrated Shipping Information System : THISIS) ซึ่งสามารถแสดงผลผ่าน Dashboard ให้เห็นโครงสร้างของกองเรือไทย เรือที่อยู่ในบัญชีสีขาว (White list) บนเว็บไซต์ของกรมเจ้าท่า ในหัวข้อ MD White list โดยสามารถแสดงข้อมูลกองเรือ (Fleet Info) จำแนกจำนวนที่มีใบอนุญาตและเรือที่ใบอนุญาตขาดอายุ รวมถึงสามารถจำแนกตามขนาดเรือ เขตการเดินเรือ ทั้งในเขตลำน้ำ อ่าวไทย ทะเลอันดามัน และเรือที่เดินต่างประเทศ ขณะเดียวกัน Dashboard สามารถแสดงจำนวนเรือในมิติความปลอดภัย เช่น เรือที่ติดตั้งระบบแสดงตนอัติโนมัติ (AIS) เรือที่มีขนาดความยาวเกิน 165 ฟุต ซึ่งต้องใช้เจ้าพนักงานนำร่อง เป็นต้น ตลอดจนสามารถจำแนกเรือตามประเภทการใช้ อาทิ เรือประมง เรือบรรทุกสินค้า และเรือโดยสาร ได้
จากข้อมูลเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีกองเรือจำนวน 81,880 ลำ โดยมีสัดส่วนเรือประมง ร้อยละ 69 เรือโดยสาร ร้อยละ 10 เรือสินค้า ร้อยละ 3 และเรืออื่น ๆ ร้อยละ 18 โดยเป็นเรือที่เดินภายในประเทศ จำนวน 81,494 ลำ เรือเดินระหว่างประเทศ จำนวน 386 ลำ ซึ่งการใช้ประโยชน์จากระบบบูรณาการข้อมูลกิจการทางทะเล (Thai Integrated Shipping Information System : THISIS) ทำให้ข้อมูลกองเรือมีความทันสมัย เป็นปัจจุบัน โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และกรมเจ้าท่าสามารถประเมินสถานการณ์ของกองเรือไทยได้อย่างถูกต้อง และนำไปใช้ในการกำหนดทิศทางรวมถึงมาตรการในการส่งเสริมกองเรือไทยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ