นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศึกษารายละเอียดด้านการคมนาคมเพื่อรองรับการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างไทย ลาว และจีน ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ( e-Meeting) เพื่อเตรียมความพร้อมการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน พร้อมจัดทำแผนการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟ เพื่อขับเคลื่อนการเชื่อมโยงทางรถไฟ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- แนวทางการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน
ผู้แทนกระทรวงต่างๆ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ต่อที่ประชุม ดังนี้ กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมพื้นที่สำหรับการตรวจปล่อยสินค้าขาออกบริเวณหนองสองห้อง และก่อสร้างจุดจอดพักรถบรรทุกชั่วคราว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.65 การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่สถานีหนองคายและพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายนาทา กระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูลการพัฒนาในฝั่งลาวเพื่อการแลกเปลี่ยนและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อบรมพัฒนาบุคลากร การเตรียมพื้นที่ด่าน สิ่งอำนวยความสะดวกในการกักกันและตรวจปล่อยสินค้าเกษตรทั้งขาเข้าและออก กรมศุลกากรดำเนินโครงการระบบตรวจสอบ Mobile X-Ray กระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี “เป็น Hub Logistic แห่งภูมิภาค” - โครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทร์ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
กระทรวงคมนาคมได้กำหนดจัดการประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ในระหว่างวันที่ 12 -13 มิถุนายน 2565 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - การดำเนินต่อไปสำหรับการออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่
จากการประชุมคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 มติที่ประชุมเห็บชอบร่วมกันในการลงทุนร่วมกันในสะพานแห่งใหม่ระหว่างไทยและลาว และจากการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมทางหลวงขอรับการจัดสรรงบกลางในการออกแบบสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ รวมทั้งออกแบบสะพานให้รองรับรถยนต์ด้วย แต่ไม่ได้รับการจัดสรร จึงได้ปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 65 เปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.2562 ปัจจุบันกรมทางหลวงได้กำหนดแผนการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ พร้อมจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) ระยะเวลา 12 เดือน และระยะที่ 2 ดำเนินการสำรวจและออกแบบ ระยะเวลา 12 เดือน ในการนี้ ประธานคณะทำงานได้มอบหมายให้ กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางราง จัดทำข้อมูลเพื่อนำไปหารือแนวทางการดำเนินโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟไทย ลาว และจีน (ช่วงหนองคาย – เวียงจันทร์ ) ซึ่งจะมีการประชุมหารือ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อส่งเสริมให้ระบบรางเป็นทางเลือกหลักในการขนส่งระหว่างไทย ลาว และจีน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป