รฟท. เคลียร์ประเด็น การบุกรุกพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พร้อมจัดหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชนย่านมักกะสัน
จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันเพื่อเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนผู้ลงทุน ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าดำเนินการก่อสร้างได้ตามสัญญา โดยในกระบวนการของการเวนคืนได้มีการกำหนดระยะเวลาในการเจรจาและการเข้าพื้นที่ ซึ่งหากผู้อยู่อาศัยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การรถไฟฯ จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ทันกำหนดเวลา ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการฯ และภาพรวมทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่ การรถไฟฯ ไม่ได้มุ่งดำเนินการโดยยึดหลักทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน จึงได้มีการจัดหาพื้นที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนที่ต้องย้ายออก เพื่อเป็นการดูแลบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ควบคู่กัน
โดยการรถไฟฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ จัดหาพื้นที่รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ บริเวณริมบึงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยจัดทำเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบฯ เป็นอาคาร 8 ชั้น จำนวน 3 อาคาร รองรับ 315 ครัวเรือน โดยจะให้ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบเช่าในระยะยาว (มากกว่า 30 ปี) ในอัตราค่าเช่า 3,000 บาท/ห้อง/เดือน สำหรับห้องขนาด 28.5 ตารางเมตร(1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ) และประมาณ 4,000 บาท/ห้อง/เดือน สำหรับห้องขนาด 34.6 ตารางเมตร (2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ) ซึ่งมีชุมชนฯ สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยนี้ เป็นจำนวนประมาณ 290 ครัวเรือน โดยในพื้นที่โครงการจะมีพื้นที่สำหรับศูนย์ดูแลเด็ก ศูนย์สุขภาพ ห้องประชุมสำหรับชุมชน พื้นที่สำหรับเก็บรถเข็น ตลาดชุมชนและพื้นที่ส่วนกลางสำหรับประกอบปรุงอาหาร และซักล้าง ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของชุมชนตามที่ได้มีการสอบถามถึงความต้องการและพัฒนาร่วมกัน
การรถไฟฯยืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ นี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนโดยรวม และการรถไฟฯมิได้เพิกเฉยต่อชุมชนที่เคยอยู่อาศัย แม้จะไม่ถูกกฎหมายก็ตาม แต่การรถไฟฯ ก็ได้ดำเนินการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดหาพื้นที่อยู่อาศัยให้ โดยใช้แนวคิดในเชิงบูรณาการพัฒนาทั้งด้านที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนโดยให้การเคหะแห่งชาติที่มีประสบการณ์ในการจัดการด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตมาร่วมกันดำเนินการอย่างมืออาชีพอีกด้วย