ภายหลังความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมี 15 ชาติสมาชิก คือ กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 30.2% ของประชากรโลก (ราว 2,300 ล้านคน) มีมูลค่า GDP กว่า 1 ใน 3 ของ GDP โลก (28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการค้ารวม 30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก (10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
โดยสิ่งที่น่าจับตาของความตกลง RCEP นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างชาติสมาชิกแล้ว คือการอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ชาติสมาชิก โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่า ผลไม้ไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากความตกลงดังกล่าว ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา ‘ทุเรียนไทย’ ก็ได้มีโอกาสประเดิมให้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง ระบุถึง ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ขบวนที่ 24508 ที่ลำเลียง ‘ทุเรียนไทย’ จำนวน 17 ตู้ รวมน้ำหนัก 288 ตัน มูลค่า 11 ล้านหยวน เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ได้ผ่านเข้าสู่ ‘ด่านรถไฟผิงเสียง’ นับเป็นขบวนรถไฟขนส่งผลไม้จากอาเซียนขบวนแรกที่เข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียงหลังจากที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
นับเป็นโอกาสของผู้ส่งออกผลไม้ไทย สามารถใช้ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ ในการระบายผลไม้ไทย โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านโหย่วอี้กวาน ทำให้ไม่ต้องรอคิวนานแถมยังขนตู้สินค้าได้ครั้งละมากๆ แม้ว่าโมเดล ‘รถ+ราง’ ในปัจจุบันยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถบรรทุก แต่ก็เป็นอีกทางเลือกด้านการขนส่งที่น่าสนใจ เพราะสามารถ ‘ซื้อเวลา’ ได้ในกรณีที่การจัดส่งสินค้าที่เกิดการเน่าเสียง่าย ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับ ‘ทุเรียนไทย’
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกผลไม้ไทยสามารถใช้รถบรรทุกสินค้าลำเลียงสินค้าออกจากภาคอีสานทางถนน R8 (หนองคาย) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป. ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย มุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของกว่างซีด้วยระยะทางเพียง 17 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งเพียง 1 ชั่วโมง ขณะที่สินค้าทั่วไปสามารถลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟที่สถานีรถไฟ Yên Viên ในกรุงฮานอย
โดยหลังจากตู้สินค้าลำเลียงเข้ามาถึงด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ก็สามารถใช้โครงข่ายทางรถไฟของจีนลำเลียงผลไม้ไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วจีน ซึ่งมีอยู่หลายเส้นทาง อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ใช้เวลา 45 ชั่วโมง กรุงปักกิ่งใช้เวลา 70 ชั่วโมง หรือจะส่งไปไกลถึงเอเชียกลางและยุโรปผ่าน China-Europe Railway Express ใช้เวลา 7-10 วัน (ทางเรือใช้เวลา 1 เดือน)
อย่างไรก็ตาม ในการใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟผิงเสียง ผู้ส่งออกยังต้องพิจารณาเรื่องตลาดปลายทางด้วย เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากด่านเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ที่ส่งออกไปจีน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีการสุ่มตรวจผลไม้อย่างเข้มงวด ผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องรักษาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อของ FAO และ WHO อย่างเคร่งครัดด้วยเพื่อส่งออกได้อย่างราบรื่นไปจนถึงตลาดปลายทาง