บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทย เผยผลงานในปี 2564 ด้วยยอดการขนส่งสินค้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจการนำเข้าของประเทศไทยเติบโตขึ้นกว่า 26.2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 15.5 เปอร์เซ็นต์ ด้วยอานิสงส์จากการที่ธุรกิจส่งออกของไทยฟื้นตัวจากปี 2563 โดยภาพรวมด้านการส่งออกของประเทศไทยมีมูลค่ารวมที่ 132.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในครึ่งแรกของปีนี้
ปริมาณการขนส่งสินค้าเข้าออกของ HPT ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเพื่อให้บริการแก่เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่พิเศษ (ULCV) ซึ่งรวมถึงเรือ MSC MINA เรือขนส่งสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขีดความสามารถในการบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ถึง 23,256 TEUs โดยสัดส่วนของการขนส่งด้วยเรือขนส่งตู้สินค้า ขนาดใหญ่พิเศษนี้มีมากถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเรือขนส่งตู้สินค้าทั้งหมดที่เทียบท่าเรือของ HPT ในครึ่งปีแรก ของปี 2564
มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ภาคการส่งออกของประเทศไทยเติบโตขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 และทำให้ท่าเทียบเรือของ HPT มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ถูกยั้งไว้ของกลุ่มลูกค้าในอเมริกาเหนือและยุโรป จากข้อบังคับที่เคร่งครัดต่าง ๆ เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการล็อคดาวน์ ลูกค้าทั่วโลกจึงใช้เงินส่วนเกินจากรายได้ของพวกเขาไปกับการซื้อสินค้าที่เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่าสินค้าด้านบริการอย่างเช่นการท่องเที่ยวช่วงวันหยุด
“การที่เราเป็นผู้นำด้านบริการท่าเทียบเรือในประเทศไทย เราถือเป็นความรับผิดชอบในการให้ความมั่นใจในด้านความปลอดภัยแก่พนักงานและผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานในท่าเทียบเรือของเราด้วยการนำมาตรการและแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาใช้ในยามที่เรายังต้องเดินหน้าดำเนินธุรกิจเพื่อความก้าวหน้าในด้านการค้าของประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเสมือนการเน้นย้ำถึงคำมั่นสัญญาของเรา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม บุคลากร และธุรกิจ ให้เติบโตต่อไป สู่ความเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้ ซึ่งบริษัทเองก็ได้แสดงให้ปรากฏด้วยการขยายท่าเทียบเรือใหม่อย่างท่าเทียบเรือชุด D (Terminal D) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมหลายแขนง และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ”
สำหรับปี 2563 นั้น กลุ่มบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) รองรับการขนส่งตู้สินค้าได้มากกว่า 3 ล้าน TEU โดยคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมดของประเทศไทย บริษัทฯ มีการจ้างงานมากกว่า 1,300 ตำแหน่ง มีการใช้งานปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 23 คัน ในท่าเทียบเรือต่าง ๆ ของบริษัท HPT เป็นผู้ประกอบการด้านท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในท่าเรือแหลมฉบัง และวางแผนที่จะขยายศักยภาพการดำเนินงานของท่าเทียบเรือต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายประมาณ 6.75 ล้าน TEU ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้
อย่างไรก็ดี ท่าเรือแหลมฉบัง ถือว่าเป็นท่าเรือหลักของประเทศไทย และยังเป็นประตูของการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ ในปี 2563 ท่าเรือแหลมฉบังมีตู้สินค้าผ่านท่าถึง 7.6 ล้าน TEU จากปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดของประเทศไทย 10.5 ล้าน TEU และถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลก และอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เรือขนส่งตู้สินค้ามากกว่า 500 ลำ เลือกใช้บริการจาก HPT ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่พิเศษ (Ultra Large Container Vessel) มีระวางบรรทุกตู้สินค้ามากกว่า 12,500 TEU และในปีเดียวกันนี้ HPT ได้ทำการขนถ่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้กับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และขนถ่ายรถไฟฟ้าระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติให้กับโครงการรถไฟฟ้า BTS สายสีทอง รวมถึงการสนับสนุนการขนถ่ายชิ้นส่วนก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันลงบนเรือขนส่งสินค้าแบบพิเศษด้วย
ปัจจุบัน ท่าเทียบเรือชุด D (Terminal D) ของ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย รองรับการให้บริการด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ มุ่งมั่นในการทำธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือตู้สินค้าแนวหน้าของโลก ที่ปฏิบัติงานด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางซึ่งควบคุมการปฎิบัติงานจากระยะไกลพร้อมเทคโนโลยีอัตโนมัติอันทันสมัย โดยภายในปี 2565 จะมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าเข้าประจำการที่ท่าเทียบเรือแห่งนี้อีก 4 คัน เพื่อเป็นการเสริมความมั่นใจได้ว่า HPT จะเป็นผู้ดำเนินกิจการท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือขนส่งตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่มากกว่า ULCV ได้
4 อันดับท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าระดับแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่
- ท่าเรือสิงคโปร์
- ท่าเรือพอร์ตกลัง ประเทศมาเลเซีย
- ท่าเรือตันหยง เปเลปัส ประเทศมาเลเซีย
- ท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย