นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้มอบนโยบายให้กับไปรษณีย์ไทย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการสื่อสารและการขนส่งของชาติ โดยให้มุ่งเน้นการใช้ศักยภาพในการขนส่ง และเครือข่ายที่ครอบคลุม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข ให้สามารถเดินหน้าต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกโปรโมชันเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เว็บไซต์ Thailandpostmart.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้าเกษตรและวิสาหกิจชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ บริการ Pick up Service รับฝากพัสดุถึงบ้าน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
โดยยังได้มอบหมายให้ไปรษณีย์ไทย สนองนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลด้วยการสนับสนุนระบบสาธารณสุขในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานเกี่ยวกับการช่วยขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ไปถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การส่งยาและเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลไปให้ผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วย COVID-19 สีเขียวในโครงการ Home Isolation-Community Isolation ให้ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับดูแลผู้ป่วย COVID-19 สีเขียว เพื่อรอการนำส่งต่อไปรักษาที่สถานพยาบาลต่อไป สอดรับกับการเป็น “เพื่อนแท้ร่วมทาง” ของคนไทยในทุกสถานการณ์
ด้านดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสนองนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงฯ จึงเร่งจัดมาตรการในการช่วยเหลือและสนับสนุนประชาชน และผู้ประกอบการ โดยในส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ไปรษณีย์ไทยช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยปรับลดอัตราค่าบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ หรือ EMS ในพิกัดน้ำหนักตั้งแต่เกิน 2,000 กรัมขึ้นไป สำหรับภาคการเกษตร ไปรษณีย์ไทยสนับสนุนการส่งผลผลิตของเกษตรกรในราคากล่องเหมาจ่าย ด้วยบริการ EMS พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อได้ในภาวะวิกฤติ ผ่านเว็บไซต์ Thailandpostmart.com ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมขายสินค้ากว่า 6,500 ราย มีสินค้ามากกว่า 17,000 รายการจากทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ต้องการส่งสิ่งของ โดยไปรษณีย์ไทยมีบริการ Pick-up service รับฝากถึงบ้าน ผู้ใช้บริการไม่ต้องออกจากบ้าน ลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อ COVID-19 โดยสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ทางไลน์ออฟฟิเชียล @ThailandPost
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ผ่านโครงการ “ส่งความห่วงใย ส่งให้ สู้ภัย COVID-19” ซึ่งได้รวบรวมอุปกรณ์การแพทย์จากคนไทย ส่งไปให้โรงพยาบาลทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการฝากส่งแล้วกว่า 2.3 แสนกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการจัดส่งกว่า 9 ล้านบาท และยังได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรขนส่งเตียงกระดาษไปให้โรงพยาบาลสนามต่างๆ ทั่วประเทศฟรี กว่า 2,300 เตียง พร้อมทั้งมีโครงการ “ไปรษณีย์ reBOX” โดยร่วมกับ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) นำกล่อง/ซองกระดาษที่รวบรวมจากคนไทยน้ำหนักกว่า 23,500 กิโลกรัม มาแปรรูปเป็นเตียงกระดาษ และยังร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เตรียมพร้อมเปลี่ยนกล่อง/ซองเป็นหน้ากากอนามัย บรรจุใน กล่องBOXบุญ ที่จะส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป
นอกเหนือจากนี้ ยังได้ให้บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยมีโรงพยาบาลเข้าร่วมกว่า 400 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19 มีปริมาณการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ จากโรงพยาบาลไปส่งยังผู้ป่วยถึงบ้านแล้วจำนวนกว่า 600,000 ชิ้น และไปรษณีย์ไทยได้ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ให้บริการจัดส่งยา และอุปกรณ์การแพทย์ ให้ผู้ป่วย COVID-19 สีเขียวในโครงการ Home Isolation-Community Isolation ด้วยบริการ EMS รวมทั้งได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตหลักสี่ในการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ” สำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการไม่มากหรือไม่รุนแรง นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ และรอการนำส่งต่อไปรักษาที่สถานพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ และช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์
ทั้งนี้ นอกจากบริการที่ไปรษณีย์ไทยพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขแล้ว ไปรษณีย์ไทยยังยืนยันพร้อมให้บริการอยู่เคียงข้างคนไทยในทุกสถานการณ์ โดยเน้นย้ำที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการความสะอาดและชีวอนามัยในอย่างเคร่งครัด โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ห้ามรวมกลุ่มพูดคุยหรือรับประทานอาหารร่วมกัน เว้นระยะห่างเคาน์เตอร์ ทำความสะอาดจุดสัมผัสทุก 20 นาที ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนพัสดุทุกชิ้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19