จากกรณี 7 สายการบิน ยื่นทวงถามซอฟท์โลนรัฐบาลและมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจเเละชีวิตพนักงานเกือบสองหมื่นคน หลังยื่นพิจารณามาเเล้วกว่า 478 วัน ซึ่งท่าทีล่าสุดจาก ทั้งการท่าอากาศยาน และ บวท. เรามาดุว่าลมหายใจที่รวยรินจะได้รับการปั้มหัวใจอย่างไร
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ตามที่สื่อมวลชนบางแห่งได้นำเสนอกรณีสมาคมสายการบินประเทศไทย ประกอบด้วย 7 สายการบินในประเทศ ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินไทยสมายล์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ต ได้เรียกร้องให้ AOT ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน รวมถึงค่าจอด-ค่าปรับออกไปก่อน นั้น
ปัจจุบัน AOT ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยการลด/ยกเว้น ค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charges) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) ค่าเช่าสำนักงาน และค่าบริการต่าง ๆ ซึ่ง AOT ได้มีการขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือฯ จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 ขยายไปจนถึงสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ยังมีสัญญาณว่าจะยังไม่สิ้นสุดลงภายในเดือนธันวาคม 2564 ไปจนสิ้นสุดตารางการบินฤดูหนาวของปี 2564 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565
โดยการขยายมาตรการช่วยเหลือฯ ในส่วนของค่าบริการสนามบินดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการบินพลเรือนแล้ว นอกจากนั้น AOT ยังได้อนุญาตให้สายการบินเลื่อนชำระหนี้สินคงค้างของสายการบินตั้งแต่เริ่มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2563 มาโดยตลอด
อีกทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน คณะกรรมการพิจารณารายได้ของ AOT จึงมีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ผ่อนผันการวางหลักประกันเงินสดสำหรับสายการบินที่มีหนี้สินค้างชำระกับ AOT ที่ประสงค์จะทำการบิน ณ สนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่ง และอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือสายการบินเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่สายการบินในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม AOT สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งหากสถานการณ์ของโรค COVID-19 ยังมีความยืดเยื้อ AOT อาจมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือฯ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อช่วยประคับประคอง และพยุงธุรกิจของคู่ค้าสำคัญของ AOT ให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน และร่วมกันฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของประเทศต่อไป
บวท. ชี้แจง 7 สายการบิน ‘เยียวยาไปหมดแล้ว’
ด้านนายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ชี้แจงถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมานับตั้งแต่ต้นปี 2563 และมีแนวโน้มการระบาดที่รุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องดำเนินการเพื่อควบคุมการระบาดอย่างรัดกุม โดยได้ออกมาตรการในการเดินทางอย่างเข้มงวด ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการธุรกิจการบิน รวมถึงหน่วยงานด้านธุรกิจการบินในประเทศ ต่างประสบปัญหาภาวะวิกฤติทางการเงิน
โดยที่ผ่านมา บวท. ได้ให้ความร่วมมือภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด -19 ตามมติคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ดังนี้
1.ตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน 2563 บวท. ได้ยกเว้นค่าปรับจากการชำระล่าช้าของสายการบิน ผู้ถือหุ้นสำหรับค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศ และกลุ่มลูกค้าธุรกิจการบินสำหรับค่าเช่าและค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท
2. ตั้งแต่เดือนเมษายน – ธันวาคม 2563 ได้ปรับลดค่าบริการการเดินอากาศลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และ 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท
3. ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 บวท. เรียกเก็บค่าบริการสำหรับเที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศเต็มจำนวน โดยเรียกเก็บเพียง 50% ก่อน และขยายเวลาชำระหนี้ในส่วนที่เหลืออีก 50% ออกไปเป็นระยะเวลา 6 รอบบิล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ บวท. ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ บวท. ได้ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินอย่างเต็มกำลังความสามารถ ภายใต้สภาพคล่องที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยปัจจุบัน บวท. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากรายได้หลักของ บวท. มาจากการให้บริการการเดินอากาศ เมื่อปริมาณเที่ยวบินลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้จึงลดลงเช่นกัน ทั้งนี้แม้ว่า บวท. จะมีมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายในองค์กร ที่ไม่กระทบต่อภาคความปลอดภัยในการให้บริการแล้วก็ตาม แต่รายได้ก็ยังคงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
จากสถิติการให้บริการจราจรทางอากาศเที่ยวบินพาณิชย์ ที่ทำการบินเข้า-ออก ผ่านน่านฟ้าไทย ตั้งแต่ ตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564 มีปริมาณเที่ยวบินลดลงร้อยละ 56 และหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ปริมาณเที่ยวบินลดลงสูงถึงร้อยละ 72 จากตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้รายได้ของ บวท. ลดลงเป็นอย่างมาก
บวท.ขาดทุนยับเช่นกัน เตรียมจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้น
บวท. ได้คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) ว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินลดลงจากปี 2563 ถึงร้อยละ 56 ทำให้ปี 2564 บวท. จะมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายกว่า 6,600 ล้านบาท
และจากสถานการณ์การระบาดที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง บวท. คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไปถึงปี 2565 ประกอบกับสายการบินมีการชำระหนี้เฉลี่ยเพียงร้อยละ 52 ของหนี้ที่ครบกำหนดชำระ จึงทำให้ ปัจจุบัน บวท. ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเช่นกัน บวท. จึงไม่มีความสามารถให้ความช่วยเหลือสายการบินตามมาตรการช่วยเหลือต่อไปได้ โดย บวท. จำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องในปี 2564 – 2565 ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ตามกรอบแผนบริหารหนี้ที่ได้รับอนุมัติ
ทั้งนี้ ตามมติ กบร. ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ปัจจุบัน บวท.อยู่ระหว่างรอความชัดเจนเรื่องการขอรับเงินสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ (Public Service Obligation: PSO) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ในขณะเดียวกัน บวท. ยังคงดำเนินการตามมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย และรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้
เอาเป็นว่าจากข่าวคือ การท่าฯยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ด้าน บวท.บอกไปตรงๆ ว่าไม่มีแล้ว หมดแล้ว ต่อไปคงต้องรอดูท่าทีจากฝั่งรัฐบาลโดยเฉพาะคมนาคมและทีมเศรษฐกิจจะจัดการปัญหาของสายการบินจากการระบาดของโควิด 19 นี้อย่างไรต่อไป