นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่งผลให้มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามแผนป้องกันภัย พร้อมทั้งให้รายงานผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้สั่งการตั้งแต่การเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ในช่วงเริ่มต้นที่ผ่านมาแล้ว
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ดังกล่าว ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำท่วม และดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง โดยจากข้อมูลวันนี้ (3 ธ.ค. 2563) เวลา 09.30 น. พบว่า มีน้ำท่วม 4 จังหวัด รวม 80 แห่ง แบ่งเป็น การจราจรผ่านได้ 52 แห่ง และผ่านไม่ได้ 28 แห่ง ประกอบด้วย 1.จ.ตรัง (4 แห่ง) การจราจรผ่านได้ 2 แห่ง และการจราจรผ่านไม่ได้ 2 แห่ง 2.จ.พัทลุง (5 แห่ง) การจราจรผ่านได้ 5 แห่ง 3.จ.นครศรีธรรมราช (51 แห่ง) การจราจรผ่านได้ 31 แห่ง และการจราจรผ่านไม่ได้ 20 แห่ง และ 4.จ.สุราษฎร์ธานี ( 20 แห่ง) การจราจรผ่านได้ 14 แห่ง และการจราจรผ่านไม่ได้ 6 แห่ง
ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวงทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีพื้นที่ใดประสบปัญหา เจ้าหน้าที่จะเข้าพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทันที ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ กรมทางหลวงได้ติดตั้งป้ายเตือนและอุปกรณ์ความปลอดภัย อุปกรณ์นำทาง ในบริเวณทางหลวงที่ถูกน้ำท่วม พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์จนกว่าจะคลี่คลาย
อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางโปรดใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือ ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อ ได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่จัดชุดปฏิบัติการ เตรียมเครื่องมือเครื่องจักรเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมติดตั้งป้ายเตือนและปักเสาหลักขาวแดงเพื่อให้ประชาชนสัญจรด้วยความระมัดระวัง รวมถึงประสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนรายงานข้อมูลสายทางที่ประสบภัยพิบัติให้ผู้บริหารได้รับทราบจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
หากมีกรณีถนน/สะพานขาด ขอให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้น หรือ กรณีต้นไม้หักโค่น ปิดทับ/กีดขวางเส้นทาง ให้รีบนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้าดำเนินการทันที เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้
ทั้งนี้เมื่อระดับน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติ หากตรวจพบสายทางที่เกิดความเสียหายรุนแรงให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ก่อน และเข้าดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคา พร้อมภาพถ่ายสภาพความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูต่อไป