ลุงตู่ร่วมทดลองให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มเติม 4 สถานี กรมป่าไม้-วัดพระศรีมหาธาตุ ฟรี..ไม่เก็บค่าโดยสาร เน้นมาตรการป้องกันโควิด-19
ณ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสห้าแยกลาดพร้าว เขตจตุจักร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสตรวจเยี่ยมและทดสอบความพร้อมการให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มเติมจำนวน 4 สถานี จากสถานีกรมป่าไม้ ถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพหลโยธินและ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสรูย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง กองบัญชาการตำรวจนครบาล และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและร่วมตรวจเยี่ยม โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีและคณะโดยสารรถไฟฟ้าจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้บริการอย่างเป็นทางการในเวลา 13.30 น.
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต- สะพานใหม่- คูคต ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเกือบ 100% จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีกรมป่าไม้ (N14) สถานีบางบัว (N15) สถานีกรมทหารราบที่ 11 (N16) และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ระยะทางรวม 4.2 กิโลเมตร มีความพร้อมทั้งด้านงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และ ด้านความปลอดภัย รวมถึงการซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบ โดยอยู่ระหว่างการทดสอบระบบรถไฟฟ้าและเก็บรายละเอียด เพียงเล็กน้อย สามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มเติมจำนวน 4 สถานี (สถานีกรมป่าไม้-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ) โดยจะให้บริการฟรีไม่เก็บค่าโดยสาร ซึ่งในปี 2562 ได้ทยอยเปิดให้บริการแล้ว 5 สถานี จากทั้งหมด 16 สถานี ได้แก่ สถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) สถานีพหลโยธิน 24 (N10) สถานีรัชโยธิน (N11) สถานีเสนานิคม (N12) และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N13) สำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเบื้องต้นกำหนดเพดานค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท ทั้งนี้ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) เป็นสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Inter Changed Station) และเป็นสถานีร่วมกับ รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ตัวสถานีจึงออกแบบให้สามารถรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเปลี่ยนเส้นทางโดยใช้บัตรโดยสารใบเดียวในการเดินทาง ในรูปแบบระบบ Paid to Paid ผู้โดยสารไม่ต้องออกนอกระบบสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ขณะนี้คืบหน้า ร้อยละ 52 มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและจะเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2564 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลโดยเฉพาะด้านทิศเหนือได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรูปแบบการเดินรถ แบ่งระยะเวลาการให้บริการเป็น 2 ช่วงหลัก ดังนี้ ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.00 น. และช่วงเวลาเร่งด่วนเย็น ตั้งแต่เวลา 16.30 – 20.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ การให้บริการระหว่างสถานีหมอชิต (N8) ถึงสถานีสำโรง (E15) จะมีความถี่ระหว่างขบวน 2 นาที 25 วินาที ส่วนความถี่การให้บริการระหว่างสถานีหมอชิต (N8) ถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) รวมถึงความถี่การให้บริการระหว่างสถานีสำโรง (E15) ถึงสถานีเคหะฯ (E23) จะมีระยะห่างระหว่างขบวน 4 นาที 50 วินาที โดยจะมีขบวนรถวิ่งสลับกันให้บริการ ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถสังเกตจากป้ายด้านหน้า และด้านข้างขบวนรถ รวมทั้งรับฟังเสียงประกาศบนชั้นชานชาลา ในขบวนรถ และอ่านจอประกาศบนสถานี สำหรับช่วงนอกเวลาเร่งด่วน ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00–16.30 น. และเวลา 20.00–ปิดให้บริการ วันเสาร์และวันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ รถทุกขบวนจะวิ่งตั้งแต่สถานีเคหะฯ ถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ โดยจะมีความถี่ประมาณ 6 นาที 30 วินาที ซึ่งคาดการณ์เมื่อเปิดเดินรถถึงสถานีคูคต (N24) ภายในปลายปี 2563 คาดว่าจะรองรับผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่สถานีเคหะฯ (E23) ไปตามเส้นทางสายสุขุมวิท จนถึงสถานีคูคต (N24) มากกว่า 1,500,000 เที่ยวคนต่อวัน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการและประสานความร่วมมือกับ รฟม. ในทุกๆ ด้านต่อไป เพื่อให้สามารถเปิดบริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตลอดทั้งโครงการได้โดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เชื่อมโยงการเดินทาง รวมทั้งยกระดับคุณภาพการเดินทางและคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระบบเดินรถไฟฟ้า โดยบริษัทฯ จะจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ประสงค์ใช้บริการซึ่งต้องไม่สูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส และให้คำแนะนำในการยืนรอเข้าขบวนรถบนชั้นชานชาลา และในขบวนรถ ให้มีระยะห่างทางสังคม (Physical Distancing) อย่างปลอดภัย เพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้ใช้บริการ ทั้งในขบวนรถไฟ และบนสถานี นอกจากนี้จะประกาศแจ้งเตือนให้ผู้โดยสาร สวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทางทุกครั้งก่อนเข้ามาในระบบ รวมถึงจัดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริการ ทั้ง 2 ฝั่งของสถานีรถไฟฟ้า และจัดเจ้าหน้าที่บริการ แอลกอฮอล์ล้างมือเคลื่อนที่ให้กับผู้โดยสาร ในทุกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น อนึ่ง ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอส มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการประชาชนทั้งสิ้น 48 สถานี รวมระยะทางให้บริการทั้งหมด 54.12 กม. และเมื่อเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานีนี้ จะมีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 52 สถานี รวมระยะทาง การให้บริการ 58.32 กม. และเมื่อเปิดครบถึง สถานีคูคต ในช่วงปลายปี 2563 นี้ จะมีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 59 สถานี รวมระยะทาง 68.25 กม. มีการจัดรูปแบบการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการ ควบคู่กับการเพิ่มขบวนรถใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ ขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 46 ขบวน จากบริษัทซีเมนส์ จำกัด และ บริษัท ซีอาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล ได้ส่งมอบครบแล้ว ทำให้มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการผู้โดยสารทั้งหมด 98 ขบวน หรือ รวม 392 ตู้ ภายในปี 2563 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ถึงสถานีคูคต ภายในสิ้นปีนี้
ด้านนายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเปิดเดินรถส่วนต่อขยายจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จะช่วยแก้ปัญหาการจราจร ในบนถนนพหลโยธินในช่วงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในเส้นทางมีทั้งสถานศึกษา หน่วยงานราชการ บ้านเรือนและอาคารพักอาศัยหนาแน่นตลอดเส้นทาง ซึ่งสามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกเนื่องจากโครงสร้างงานโยธาของโครงการ ได้ออกแบบทางเดินสกายวอล์กไปยังซอยย่านชุมชน หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ โดยไม่ต้องเดินบนทางเท้าด้านล่าง เช่น สถานีกรมป่าไม้ (N14) จะมีทางเดินที่สามารถเชื่อมเข้ามาที่สถานีทั้งจากกรมป่าไม้ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก โรงเรียนสารวิทยา และไปรษณีย์จตุจักร สถานีบางบัว (N15) มีทางเดินเชื่อมจากกรมทางหลวงชนบท สถานีกรมทหารราบที่ 11 (N16) มีทางเดินเชื่อมจากอู่รถเมล์บางเขน และ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) สามารถเดินขึ้นมาเข้าระบบรถไฟฟ้าได้ทุกทิศทาง โดยมีสกายวอล์กรอบบริเวณสถานีรวมระยะทางกว่า 1.7 กม. สามารถเดินทางขึ้นได้ทั้งจาก กรมทหารขนส่ง โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สน.บางเขน สำนักงานเขตบางเขน กรมควบคุมโรค สถานีดับเพลิงบางเขน วัดพระศรีมหาธาตุ และฌาปนสถานกองทัพอากาศ
นายมานิต กล่าวต่อด้วยว่า โดยในส่วนของสถานีในส่วนที่เหลือ ต่อจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีปลายทางคูคต ก็ได้มีการทำทางเดินสกายวอล์ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชุมชนและสถานที่สำคัญๆ ในเส้นทางใกล้รถไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ อย่างสะดวกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะที่สถานีโรงพยาบาลภูมิพล จะมีทางเดินเชื่อมจากสถานีเข้าไปยังโรงพยาบาลภูมิพลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สำหรับการเปิดเดินรถจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) ถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N13) มีผู้โดยสารใช้บริการดังนี้ เดือน ม.ค. ผู้โดยสารเฉลี่ย 95,618 เที่ยวคนวัน เดือน ก.พ. ผู้โดยสารเฉลี่ย 107,555 เที่ยวคนต่อวัน จากนั้นในเดือน มี.ค.ผู้โดยสารลดลงจากผลกระทบสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเดือน มี.ค.ผู้โดยสารเฉลี่ย 64,580 เที่ยวคนต่อวัน เดือน เม.ย.ผู้โดยสารเฉลี่ย 19,999 เที่ยวคนต่อวันและเดือน พ.ค. ผู้โดยสารเฉลี่ย 34,476 เที่ยวคนต่อวัน ทั้งนี้เมื่อเปิดเดินรถถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุและรัฐบาลเริ่มมาตรการคลายล็อคต่าง ๆ คาดว่าจะทำให้มีผู้โดยสารถึง 130,000 เที่ยวคนต่อวัน