สมัยวิ่งเต้นเป็นกระจอกข่าวแถวกระทรวงหูกวาง ไปบ้าง ไม่ไปบ้างจนเพื่อนๆ สื่อหลายคนมองเป็นชนกลุ่มน้อย เพราะภาระงานการนั้นหลายด้านต้องทำ แต่บ่อยครั้งที่มีโอกาสแวะไปคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงในประเด็นต่างๆ
หนึ่งในนั้น คือ โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล
Southern Seaboard แห่งภาคใต้ รูปแบบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ โดยมีท่าเทียบเรือเป็นประตูทางน้ำด้านตะวันตกของไทย แถมต้องการเชื่อม สตูล-กับท่าเรือสงขลา เพราะจะมี ‘แลนด์บริดจ์’ สะพานแผ่นดินที่เชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ผ่านการขนส่งโดยรถไฟทางคู่เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าไม่จำเป็นต้องอ้อมช่องแคบมะละกาอีกต่อไป
โดยโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 นั้น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยมีผู้พัฒนาโครงการคือกรมเจ้าท่า โดยว่าจ้างบริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี่ จำกัดและ บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์เมนเนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำรายงาน
แน่นอนว่าผ่านทุกมิติท่ามกลางลายเซ็นเห็นชอบของนักวิชาการหลากหลายสาขา แต่ก็ต้องชะงักเพราะประชาชนและตัวแทนจากสมาคม ชมรมสิ่งแวดล้อมต่างพากันออกมาประท้วงว่า รายงาน EIA นั้นไม่ครอบคลุมและไม่น่าเชื่อถือ
เพราะโครงการท่าเทียบเรือฯ จะส่งผลใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศ ประมงพื้นบ้าน และสารพัดปัญหาที่จะตามมาจากการเกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (HIA) ด้วย
ลองนึกภาพ ‘มาบตาพุด’ จะเห็นอนาคตของ ปากบารา ในมุมชาวบ้านคิดแบบนั้น
“พวกเอกชนมาเลย์และสิงคโปร์ จ้างเอ็นจีโอพวกนี้มาประท้วง เพราะถ้าปากบาราเกิด ท่าเรือปีนังก็อยู่ไม่ได้ เรือก็ไม่ต้องอ้อมไปช่องแคบมะละกาให้เสียเวลา เพราะปากบาราคือประตูด้านตะวันตกที่เชื่อมอันดามันและอ่าวไทย” ผอ.ที่ดูแลด้านนโยบายขนส่งและจราจรท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ และบอกให้ ออฟเร็คคอร์ด แต่สัญญาในขณะนั้นขออนุญาตสิ้นสุดอายุสัญญาในขณะนี้
เป็นอันว่ากลายเป็นเรื่องการแข่งขันของสองท่าเรือ ผลประโยชน์ 3 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีกระแสคัดค้าไม่เห็นด้วยของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ แถมตั้งคำถามว่า ท่าเรือดังกล่าวจะมีลูกค้าจริงหรือไม่ หรือจะถูกปล่อยให้ทิ้งร้างชะตากรรมไม่ต่างจากท่าเรือระนอง
แถมยก ‘ท่าเทียบเรือน้ำลึกทวาย’ ขึ้นมาประชัน ซึ่งทวายตอนนั่นเปรียบเหมือนฝันที่สวยงามที่บรรดากูรูต่างยกยอปอปั้นว่าจะผงาดง้ำท่ามกลางการส่งเสริมการลงทุนในทุกมิติ ปากบาราจะเอาอะไรไปสู้ !!!
กลายเป็นมุมเศรษฐศาสตร์ไปเสียอย่างนั้น และรัฐ เอกชน นักวิชาการ และเอ็นจีโอ ต่างชูประเด็นที่แตกต่างกัน
ซึ่งแน่นอนว่าสมาคมหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมต่างชูประเด็นความสวยงามของธรรมชาติในพื้นที่ วิถีประมงพื้นบ้าน และการทำลายทรัพยากรของชาติอย่างไม่มีทางสร้างใหม่ขึ้นมาได้ เทียบมาบตาพุด แหลมฉบัง ศรีราชา ซึ่งเป็นโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว
ไม่เหมือนหรอก เพราะระยะที่หนึ่งของโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากราบา อ.ละงู จ.สตูล ต้องขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อถมทะเลบริเวณปากคลองและสร้างเขื่อนกันคลื่นด้วย ภายใต้งบประมาณการลงทุนในระยะที่ 1 มูลค่า 44,181 ล้านบาทรวมอยู่ด้วย
ตอนนั้นมีผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติบางคนไม่เห็นด้วย และออกเสียงคัดค้านอย่างแข็งขัน เพราะโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนอย่างรุนแรง เข้าข่ายความผิด มาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550
แต่สุดท้ายมติที่ประชุมก็ได้ความเห็นชอบ !!!
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ไม่ใช่ใครอื่น มีอดีตหัวหน้าพรรครูปหล่อที่ลาออกไปตอนแพ้เลือกตั้งเป็นประธาน ประกบคู่รองนายก คือ สมุนหน้าดำ จากเมืองคนดี โดยให้ ดร.หน้าขาวที่ปรึกษาด้านการเมืองมานั่งแว่นใสยิ้มแป่นแล๊นประชุมแทน ณ ห้องสีเขียวตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยให้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี(กรมเจ้าท่านั่นแหละ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา) กับกับดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด และเตรียมนำเรื่องปาบาราเข้า ครม. ที่คนหน้าหล่อ กับคนหน้าดำเป็นนายกฯและรองนายกฯ
4 มีนาคม 2553 กรมเจ้าท่า (เปลี่ยนชื่อใหม่จากขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี) ก็ส่งเอกสารไปปึกใหญ่ให้ อธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเพื่อจะถมทะเลสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา
‘ไม่สร้างตอนนี้ ไทยจะเสียเปรียบและไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต จะไปหวังพึ่งพาท่าเรือปีนังตลอด หรือคาดหวังกับท่าเรือน้ำลึกเมืองทวายไม่ได้ เราต้องยกระดับการแข่งขันและเปิดประตูด้านตะวันตกของเราเอง’ เสียงของผอ.คนเดิมแว่วมาอีกครั้ง
นั่นเป็นจุดเริ่มต้น ที่จุดประเด็นการต่อสู่เพื่อองค์กรภาคประชาชนต่างๆ เพื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแหงชาติหมู่เกาะเภตราและการถมทะเลก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปาบารา และส่วนตัวก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด จึงของดที่จะระบุในด้านนี้ ซึ่งก็สามารถหาข้อมูลได้ทั่วไป
อย่างที่หลายท่านทราบว่า ภายหลังจากนั้นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ประตูด้านตะวันตกของไทยก็ล้มลุกคลุกคลานมาต่อเนื่อง เปลี่ยนแผนเปลี่ยนผัง และเปลี่ยน รมต.ไปหลายสมัย จนถึงปัจจุบัน
“ผมจะผลักดันให้ปากบารา และท่าเรือสงขลา 2 เกิดให้ได้ในยุคของผม ถือเป็นนโยบายที่กระทรวงคมนาคมต้องทำด้วยกันให้ได้ เพราะถ้าเป็นประโยชน์เราก็ควรทำ ซึ่งเรื่องนี้ได้ฝากให้รัฐมนตรีช่วยฯ ท่านถาวร ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย”
ถ้อยแถลงของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับการหมายมั่นปลุกผีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราขึ้นมาอีกครั้งภายใต้การต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่และกลุ่มเอ็นจีโอ
ล่าสุด วันพุธที่ 4 มีนาคม 2563 เวลา 10:30 น. ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานรับฟังข้อร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชน ติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
เรื่อง “ยกเลิกโครงการท่าเรือน้ำลึกจังหวัดสตูล (ปากบารา)และขอให้แก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้านและฐานทรัพยากรประมงและชายฝั่ง” โดยมีนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม(หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) , นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังข้อร้องเรียน
โดยกรมเจ้าท่าได้ลงนามร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นคู่สัญญายุติโครงการศึกษาทบทวนและสำรวจออกแบบรายละเอียด (EHIA) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แล้วเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562
แต่อย่างไรก็ดีการพัฒนาเพื่อการขนส่งทางน้ำยังคงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนา โดยกรมเจ้าท่าได้เสนอโครงการศึกษาและออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้า บริเวณชายฝั่งอันดามันตอนล่าง (ในพื้นที่ จ.กระบี่ จ.พังงา จ.ตรัง จ.สตูล) ในปี 2564
ส่วนการแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน กรมเจ้าท่าได้มีการซักซ้อมแนวทางการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน กับเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าแล้ว เพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และได้รับข้อเสนอแนะของสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยไปพิจารณาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
เหมือนจะยอมถอยเพื่อตั้งหลัก แต่เชื่อเถอะ มหากาพย์เรื่องนี้ยังอีกยาว !!! เชื่อขนมกินได้