นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทาง การพัฒนาระบบขนส่งทางราง และมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางที่มีความถี่ในการเดินรถสูง และต้องจอดรอเพื่อหลีกรถเป็นระยะเวลานาน
โดยโครงการรถไฟทางคู่ ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 ภายหลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมได้เสนอ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง ที่ให้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟเดิมช่วงที่มีปัญหาความคับคั่งของการเดินรถ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าและสำหรับขบวนรถไฟท้องถิ่น
โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เป็น 1 ใน 5 เส้นทางรถไฟที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประกอบด้วยโครงการ 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,796,385.77 ล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ แนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางรวม 132 กิโลเมตร รวมงบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 29,968.62 ล้านบาท โดยการรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน
สำหรับภาพรวมการก่อสร้างในปัจจุบัน โดยตามแผนงานกำหนดไว้ ร้อยละ 40.23 แต่มีความคืบหน้าร้อยละ 41.42 ซึ่งสามารถก่อสร้างได้เร็วกว่าแผนงาน ร้อยละ 1.19 ของโครงการ มีการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 สัญญา คือสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร งบประมาณก่อสร้าง 7,560,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน แผนงานกำหนดไว้ ร้อยละ 56.71 ความคืบหน้าผลงาน ร้อยละ 59.35 เร็วกว่าแผน ร้อยละ 2.64 สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร– ชุมทางถนนจิระ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติจาก ครม. ส่วนสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ งบประมาณก่อสร้าง 9,290,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 42 เดือน แผนงานกำหนดไว้ ร้อยละ 33.598 ความคืบหน้าผลงาน 31.969 ล่าช้ากว่าแผน ร้อยละ 1.629
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ได้เร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และพร้อมเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2565 ดังนั้น หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว ทำให้มีความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มความรวดเร็วและความตรงต่อเวลา ในการเดินขบวนรถไฟได้อีกด้วย อีกทั้งประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย มีโครงการที่จะพัฒนาทางคู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมพื้นฐานอื่น ๆ เน้นการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง เป็นการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟโดยใช้แนวทางการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) ช่วยเพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถไฟ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญจะเป็นการลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ