เกมการขนส่งพัสดุในไทยเริ่มคึกคักหลังมีคู่แข่งหลายเจ้าช่วงชิงพื้นที่ส่วนแบ่งทางการตลาด รองรับการซื้อขายออนไลน์ที่ขยายเติบโตขึ้นทุกปี โดยมีสองผู้เล่นหลักอย่างไปรษณีย์ไทยกับเคอร์รีต่างชูจุดแข็งช่วงชิงความเป็นหนึ่ง โดยไปรษณีย์ไทยโชว์จุดแข็งด้านความเก๋าเราอยู่มานานกว่า ในเรื่องของการลงลึกถึงพื้นที่ในระดับตำบลเป็นกลยุทธ์ในการเดินเกมสู้
ด้านเคอร์รีดึงภาพลักษณ์ที่ทันสมัย เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่พร้อมดึงการให้บริการระบบ E-Payment มาเป็นเครื่องมือเดินเกมสู้ศึกแบบไม่ยั้ง จนตีขึ้นเป็นแบรนด์ชั้นนำอันดับ 2 ของวงการโลจิสติกส์ไทย ดันตลาดโตได้กว่า 100% จากธุรกิจ E-Commerce ที่มาแรง ทำให้บริการขนส่งโลจิติกส์มีมูลค่าการเติบโตสูงถึงกว่า 30,000 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2563 จะมีมูลค่าเติบโตพุ่งขึ้นเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท
เม็ดเงินเดินสะพัดในตลาดการขนส่งมหาศาลขนาดนี้ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้ผู่เล่นหน้าเก่าและใหม่ พลิกแผนสู่กันแบบไม่ยั้ง เพื่อชิงพื้นที่ขึ้นยืนหนึ่ง โดยเฉพาะเคอร์รีผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งของไปรษณีย์ไทย เตรียมแผนพลิกเกมรับ เสริมทัพพันธมิตร หวังผนึกกำลังสู้เกมศึกการแข่งขันปั้นขึ้นยืนหนึ่งในแถวหน้าให้บริการครบวงจรทุกมิติ
จับตาเคอร์รี มีดีอะไรทำไม ปณท.ต้องกลัว
ด้วยภาพลักษณ์ของเคอร์รี เอ็กซ์เพรส ที่เข้ามาสู่ตลาดการแข่งขันด้านการขนส่งพัสดุ ซึ่งมาพร้อมกับความทันสมัย จัดส่งสะดวก และรวดเร็ว ร่วมกับการให้บริการสุภาพ พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอดเวลานั้นจัดเป็น Pain Point ของผู้นำการตลาดที่โจมตีได้ตรงจุด และใช้ความได้เปรียบด้านการตัดสินใจรวดเร็วกว่าจากความเป็นภาคเอกชน เข้ามาสร้างโอกาสในการเดินเกมทางการตลาดด้วยกลยุทธ์ Network company หรือการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้เคอร์รี่มีต้นทุนการบริหารจัดการต่ำและมีรถให้บริการจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งปัจจุบันเคอร์รีมีจุดรับพัสดุครอบคลุมกว่า 10,000 แห่งทั่ว ประเทศพร้อมการเติบโตอย่างเข้มแข็งร่วมกับพันธมิตรหลักอย่างลาซาด้า
เคอร์รีแกร่งขึ้นหลังขายหุ้น
การขายหุ้นให้แก่บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)ในเครือบีทีเอสกรุ๊ปไปในสัดส่วน 23% เมื่อปี พ.ศ.2561 ของเคอร์รีกลายเป็นเรื่องดี เพราะเป็นแบรนด์โลจิสติกส์เจ้าเดียวที่สามารถเปิดจุดรับส่งพัสดุได้ผ่านรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมพ่วงการชำระค่าบริการขนส่งพัสดุไปกับแรบบิทไลน์เพย์ของรถไฟฟ้าด้วย จึงทำให้เกิดความสะดวกสบายในการชำระเงินของลูกค้ากลุ่มผู้ใช้บริการบีทีเอส นอกจากนี้ยังจับมือกับ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัว “BTS Express Service” จุดบริการให้ลูกค้าส่งพัสดุด่วนทั่วไทยได้อย่างสะดวกสบายบนรถไฟฟ้าบีทีเอสถึง 4 สถานียอดนิยม ได้แก่
– รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีศาลาแดง : แหล่งรวมของศูนย์กลางทางธุรกิจ ที่เต็มไปด้วยสำนักงานและอาคารพาณิชย์
– รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีพร้อมพงษ์ : สถานีที่มีแหล่งช้อปปิ้งไฮเอนด์ระดับโลกรวมอยู่ทั้งหมด
– รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีทองหล่อ : สถานีที่มีร้านอาหารและบาร์ยอดนิยมมากมาย
– รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสยาม : สถานีศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง ของหนุ่มสาวและเทรนด์ใหม่ๆ นำกระแส
ด้วยจุดแข็งดังกล่าว ทำให้ลูกค้าสามารถส่งพัสดุไปยัง 12 สถานีปลายทางแบบเดลิเวอรี่ได้ภายใน 3 ชั่วโมง รวมถึงมีบริการส่งของในระยะ 200 เมตร จากรถไฟฟ้าบีทีเอสให้อีกด้วย
เคอร์รี่เตรียมขายหุ้น ระดมทุนสู้ศึกยิบตา
บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (Kerry Express) กำลังเตรียมวางแผนขายหุ้นให้แก่สาธารณะชนเป็นครั้งแรก(IPO) เพื่อระดมทุนเร่งขยายกิจการรองรับตลาดอีคอมเมอร์สและการช้อปปิ้งออนไลน์ โดยนายอเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทของ เคอร์รี่ โลจิสติกส์ เน็ตเวิร์ก จำกัด ซึ่งมีฐานทัพอยู่ที่ฮ่องกง กำลังดำเนินการเกี่ยวกับการเสอขายไอพีโอ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทที่มีการเติบโตอย่างมาก และจะยังคงลงทุนด้านอุปกรณ์และฮาร์ดแวร์ต่อไปเพื่อรักษาสถานะผู้นำในตลาดเอาไว้
ทั้งนี้มีการรายงานจากวงในเพิ่มเติมว่า นายโรเบิร์ต ก๊วก มหาเศรษฐีมาเลเซียผู้หนุนหลังเคอร์รีคนสำคัญ กำลังพิจารณาเสนอขายไอพีโอของธุรกิจในประเทศไทย โดยอาจระดมทุนได้อย่างน้อย 200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,058 ล้านบาท มารองรับการขยายตัวทางธุรกิจครั้งนี้ด้วย การเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ของเคอร์รี จึงเป็นโอกาสสำคัญในการดำเนินธุรกิจทั้งของตัวเคอร์รีเอง และผู้ถือหุ้นให้มีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น อันจะนำไปสู่การเสริมให้ธุรกิจแข็งแกร่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันขึ้นอีกขั้นด้วยในอนาคต
จับตาไปรษณีย์ไทยจะได้เป็นเบอร์ต้นหรือเบอร์รองต่อไป
มาดูฝั่งไปรษณีย์ไทยที่อยู่เคียงข้างสังคมไทยมามายาวนานกว่า 100 ปีกันบ้างว่าเป็นอย่างไร เมื่อถูกหั่นชิ้นเค้กออกไปหลายทิศทางจากคู่แข่ง ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดซึ่งมีมากหน้าหลายตา แม้จะมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัย กระตุ้นผู้คนด้วยแคมเปญต่างๆ บ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นยังคงทำการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเป็นไปอย่างล่าช้า
แม้ว่าจะมีจุดแข็งด้านเครือข่ายที่ลงลึกได้ในระดับตำบล ครอบคลุมแบบใยแมงมุมกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบบริการที่มีให้เลือกหลากหลาย เช่น พัสดุแบบธรรมดา พัสดุลงทะเบียน และ EMS ตามความเหมาะสมและราคาไม่สูงเกินไปเป็นตัวช่วยชูจุดแข็ง จุดขายทำให้ผู้คนวางใจมาช้านาน และสามารถพลิกสถานการณ์จากผลประกอบการขาดทุนให้กลับเป็นกำไรได้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจแม้ปัจจุบันจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดจากฐานลูกค้าในต่างจังหวัดที่สูงถึง 75% ในกรุงเทพและปริมณฑล 50-55% แล้วจะหยุดพัฒนากลายร่างเป็นเสือนอนกินได้อย่างนิ่งนอนใจ ไปรษณีย์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ลุกขึ้นสู้ในการศึกครั้งนี้ต่อไป ด้วยมีโจทย์ที่ท้าทายเป็นคู่แข่งมีเงินทุนหนาและมีการอัพเกรดตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่ม เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส ที่มาแรงอย่างน่ากลัว
ถ้าดูจากภาพรวมส่วนแบ่งการตลาดด้านบริการขนส่งพัสดุในปี พ.ศ. 2561 นั้นยิ่งน่าใจหาย ด้วยเคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส ตีขึ้นมาจ่อรอเป็นเบอร์ต้นของตลาดโลจิสติกส์จากส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงถึง 39% ห่างจากไปรษณีไทยเพียง 2% เท่านั้น นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เคอร์รี่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขนาดไหน และถ้าไม่อยากถูกตีตลาดจนหายไปเหมือน NOKIA ไปรษณีย์ไทยจำเป็นต้องพัฒนา ทั้งมาตรฐาน การให้บริการ เทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมารองรับการให้บริการอีกมาก เพื่อไม่ให้หายสาบสูญไปจากสังคมไทย มิเช่นนั้นรายได้จากธุรกิจ E-Logistic ที่ติดเป็นอันดับ 1 จากสถิติในปี 2560 ที่คิดเป็นมูลค่า 29,298,317,058 บาท ก็อาจหายวับไปในพริบตา หากไม่ลุกขึ้นมาพลิกเกมสู้ เพราะในโลกของการทำธุรกิจ ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าคู่แข่งทางธุรกิจอีกแล้ว