นักวิชาการคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลวิจัยเด่นจากเวทีนานาชาติ ด้วยสุดยอดผลงานวิจัยที่สามารถสร้างเครื่องมือเพิ่มประสิทธิผลด้านโลจิสติกส์ให้กับภาคธุรกิจได้สำเร็จ เผยแบบจำลองสถานการณ์นี้ช่วยลดปัญหาความล่าช้าในการขนส่ง จนเกือบเป็นศูนย์ ขณะที่ต้นทุนลดลง 5% ทำให้องค์กรธุรกิจมีศักยภาพการแข่งขันมากขึ้น พร้อมขยายผลสู่การศึกษาเครื่องมือการจำลองสถานการณ์เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งพัสดุ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
ผศ.ดร.สิริอร เศรษฐมานิต อาจารย์ประจำภาควิชาพาณิชยศาสตร์ และรองประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (นักบริหาร) ให้สัมภาษณ์ในงาน “เรียง 100 ความภูมิใจ Chulalongkorn Business School” ประจำปี 2563 ซึ่งทางคณะฯ ได้จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่เหล่าคณาจารย์และนิสิตที่สร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงให้กับคณะฯ มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ว่า การขนส่งสินค้า เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักที่ส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพการแข่งขันขององค์กรธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรธุรกิจมักเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการการขนส่งที่มีความชำนาญในด้านการจัดการ และเชี่ยวชาญในเรื่องของเส้นทาง แต่เนื่องจากในการทำสัญญาจ้างโดยส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะของการเหมาจ่ายหรือกำหนดขั้นต่ำ ซึ่งหากคำนวณผิดพลาดก็อาจทำให้ค่าขนส่งสินค้าสูงเกินจริง ซึ่งนั่นหมายถึงข้อเสียเปรียบในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจ
จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.สิริอร ได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ Evaluation of Outsourcing Transportation Contract Using Simulation and Design of Experiment โดยนำเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของธุรกิจยานยนต์แห่งหนึ่ง มาสร้างแบบจำลองเพื่อศึกษาหาจำนวนรถที่เหมาะสมในการขนส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด เพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาทำสัญญาจ้างที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำสุด
“ในการศึกษาครั้งนี้ เราเน้นวัดตัวเลข 2 ส่วนที่มีปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตขององค์กรธุรกิจ ตัวแรกคือเปอร์เซ็นต์การขนส่งที่ล่าช้า อีกตัวหนึ่งต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากแต่เดิมเคยเชื่อกันว่ายิ่งจ้างรถจำนวนมาก ก็จะทำให้การล่าช้าลดลง แต่นั่นก็ต้องแลกมากับต้นทุนที่สูงตาม เพราะบางครั้งออเดอร์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้รถจำนวนมากไม่ได้ถูกนำมาใช้เต็มประสิทธิภาพ งานวิจัยนี้เป็นการเอาข้อมูลของปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการขนส่ง มาสร้างแบบจำลองสถานการณ์ หรือ Simulation Model เพื่อหาจำนวนรถที่เหมาะสมในระดับต้นทุนที่ต่ำ แล้วนำเอาผลที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการทำสัญญากับ ผู้ให้บริการขนส่ง และทำการติดตามผล
“ผลลัพธ์ที่ได้คือ เครื่องมือนี้สามารถลดอัตราความล่าช้าจาก 14% เหลือเพียง 0.02% เรียกได้ว่าความล่าช้าลดลงจนแทบจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ขณะที่ต้นทุนลดลงประมาณ 5% ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่ขนส่ง ยิ่งมากเท่าไร ต้นทุนที่ประหยัดได้ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นอกจากต้นทุนแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญเมื่อเกิดการส่งล่าช้าก็คือ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ หรือความน่าเชื่อถือของตัวองค์กร ซึ่งบางครั้งอาจมีมูลค่าที่สูงกว่าต้นทุนที่ลดลง เพราะชื่อเสียงที่เสียไปจากการขนส่งล่าช้า อาจทำให้คนไม่สั่งสินค้าแล้ว หรือเสียลูกค้ารายนั้นๆ ไป ซึ่งก็จะทำให้องค์กรได้รับผลเสียหายที่รุนแรงกว่า”
อย่างไรก็ตาม ในการนำเอาแบบจำลองสถานการณ์นี้ไปประยุกต์ใช้กับองค์กรอื่นๆ นั้น หากต้องการให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำจำเป็นต้องนำเอาข้อมูลเฉพาะขององค์กรนั้นมาปรับค่าก่อน เพราะแต่ละองค์กรมีปัจจัยแวดล้อมไม่เหมือนกัน โดยแบบจำลองนี้เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าล็อตใหญ่ ที่ผู้ผลิตต้องการกระจายสินค้าไปยังดีลเลอร์เป็นหลัก แต่สำหรับการขนส่งสินค้าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนั้น ผศ.ดร. สิริอร ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม และเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานวิจัยในครั้งต่อไปของตน ทั้งนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างชาติได้ในวันที่โลกทั้งใบถูกเชื่อมโยงให้เป็นโลกใบเดียวกัน
ในส่วนของผลงานวิจัย Evaluation of Outsourcing Transportation Contract Using Simulation and Design of Experiment นี้นั้น ได้รับคัดเลือกให้เป็น Best Paper จากผู้ที่ส่งผลงานทั้งสิ้นประมาณ 500 ผลงาน ในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ Global Conference on Business and Social Sciences 2018 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ จากประเทศมาเลเซีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย