ขนส่งฯเผยผลตรวจเข้มการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ “รถแท็กซี่-รถตู้โดยสาร-รถจยย.”ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เดือนต.ค.62 พบทำผิด 205 ราย รถจยย.รับจ้างครองแชมป์ทำผิดมากสุด 84 ราย รองมา”แท็กซี่” 76 ราย ย้ำดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดแล้วทุกราย
นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยผลการดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประจำเดือนตุลาคม 2562 เพื่อควบคุมกำกับดูแลการให้บริการให้มีมาตรฐานคุณภาพ ป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายหรือฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชนผู้ใช้บริการ โดยดำเนินการตรวจสอบรถแท็กซี่ รถตู้โดยสารสาธารณะ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ รวมทั้งสิ้น 13,451 ราย พบการกระทำความผิดจำนวน 205 ราย ดังนี้ ตรวจสอบการให้บริการรถแท็กซี่ จำนวน 5,453 ราย พบการกระทำความผิด จำนวน 76 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ ฝ่าฝืนใช้รถไม่จดทะเบียน (รถแท็กซี่ป้ายแดง) จำนวน 16 ราย นำรถแท็กซี่หมดอายุมาให้บริการ จำนวน 9 ราย ใช้รถไม่ตรวจรอบมิเตอร์ตามที่กำหนด จำนวน 6 ราย เป็นต้น
ส่วนการตรวจสอบการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ จำนวน 5,170 ราย พบการกระทำความผิด จำนวน 31 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนควบของตัวรถไม่มั่นคงแข็งแรง จำนวน 7 ราย ฝ่าฝืนใช้รถไม่จดทะเบียน และไม่ชำระภาษี จำนวน 6 ราย นำรถออกนอกเส้นทาง จำนวน 5 ราย เป็นต้น
สำหรับการตรวจสอบการให้บริการรถจักรยานยนต์ จำนวน 2,828 ราย พบการกระทำความผิด จำนวน 98 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ การนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างรับส่งผู้โดยสาร จำนวน 84 ราย ใช้รถไม่ชำระภาษี จำนวน 8 ราย ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ จำนวน 2 ราย เป็นต้น ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดทุกราย และบันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ หากพบการกระทำความผิดซ้ำซากพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกมีมาตรการควบคุม กำกับ ดูแล การให้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการเป็นประจำต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ราชประสงค์ สถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายหรือฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชนผู้ใช้บริการ เช่น พฤติกรรมปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร หรือไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร รวมถึงป้องกันการลักลอบนำรถผิดกฎหมาย หรือรถส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาให้บริการ เนื่องจากผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่มีข้อมูลในศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก เพราะเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร้องเรียนหากพบรถโดยสารสาธารณะให้บริการไม่เป็นธรรม หรือแจ้งเบาะแสรถผิดกฎหมายได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง, ผ่านทางเว็บไซต์ที่ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/, ผ่านทาง E-mail ที่ dlt_1584complain@hotmail.com, Facebook ชื่อ 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ (https://www.facebook.com/dlt1584/) หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง โดยกรมการขนส่งทางบกดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบทาง SMS ภายใน 1 – 2 วัน และแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเป็นระยะจนกว่าจะแก้ไขเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จ