ที่ประชุมคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ในรายละเอียดการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเนื้อประมาณ 1,000 ไร่ ตามโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ให้สามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (สินค้าปิโตรเคมี น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่ม 14 ล้านตัดต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่ EEC
โดยมีมูลค่าการลงทุนโครงการรวม 55,400 ล้านบาท ประกอบด้วยแหล่งเงินทุนจาก 1.การนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 12,900 ล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งานหลักเป็นการขุดลอกและถมทะเล 2.ภาคเอกชน ลงทุนท่าเทียบเรือก๊าซ จำนวน 35,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว จำนวน 4,300 ล้านบาท และคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ จำนวน 3,200 ล้านบาท
องค์ประกอบการใช้พื้นที่มี 2 ส่วน ดังนี้
1.โครงสร้างพื้นฐาน งานขุดลอกและถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อก่อสร้างท่าเรือสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติและพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน แบ่งเป็นพื้นที่ถมทะเลหลังท่าเพื่อใช้งาน 550 ไร่ และพื้นที่บ่อเก็บตะกอนดินเลนระหว่างก่อสร้าง 450 ไร่ รวมถึงงานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือ งานสาธารณูปโภค และการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ
2.ท่าเรือบนพื้นที่ถมทะเล เป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือ (Jetty) เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า 3 ส่วน คือ ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่า (พื้นที่ 200 ไร่) ท่าเทียบเรือก๊าซ (พื้นที่ 200 ไร่) และคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ (พื้นที่ 150 ไร่) รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและการบริหารจัดการท่าเรือ
การลงทุนในโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนและตอบสนองความต้องการการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ด้านสังคม เกิดการจ้างงานสร้างเศรษฐกิจชุมชนและเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่