เมื่อเร็ว ๆ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) พร้อมมอบนโยบายในการดำเนินงานให้ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และเยี่ยมชมกิจการการดำเนินงานท่าเทียบเรือ D1 ของบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด
นายอธิรัฐ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนพัฒนาศักยภาพท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่า จากการรายงานของ กทท.พบว่า มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี เพิ่มเป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู ต่อปี ซึ่งในปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างขั้นตอนประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาดว่าหากไม่ติดขั้นตอนทางกฎหมาย จากกรณีที่เอกชนยื่นศาลปกครองกลาง คุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินการคัดเลือก คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะสามารถเจรจากับเอกชนที่มีคะแนนสูงสุด และลงนามสัญญาร่วมทุนได้ภายในเดือน ต.ค.นี้
“ทลฉ. เป็นท่าเรือหลักและเป็นประตูเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ที่สำคัญให้กับประเทศ อยากให้ทุกคนมีความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของ ทลฉ. ร่วมกันพัฒนา ทลฉ.ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยกระดับ ทลฉ. เป็นท่าเรือชั้นนำอันดับหนึ่งของเอเชีย และติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากการขยายตัวตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลกรองรับเรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พัฒนา ทลฉ. ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือและเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำไปสู่ทางราง ทางบก ในลักษณะไร้รอยต่อ (Seamless Transport) เพื่อลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะต้องเน้นด้านความปลอดภัยภายในเขตพื้นที่ ทลฉ. ทั้งหมดโดยให้ครอบคลุมพื้นที่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการให้บริการจะต้องอยู่ในระดับมาตรฐานสากล พัฒนา ทลฉ. ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชน ประชาชนรอบท่าให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บูรณาการด้านการขนส่งสินค้าทางน้ำเชื่อมกับระบบราง เนื่องจากพบว่าปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางมีอยู่เพียง 7% ซึ่งต้องการให้ปรับเพิ่มเป็น 30% จึงขอให้เร่งหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ท่าเรือแหลมฉบัง ยกระดับเป็นท่าเรือสมาร์ทพอร์ท ขนถ่ายสินค้าด้วยระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ และต้องวางแผนพัฒนาท่าเทียบเรือ A5 เพื่อรองรับการเชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือ บางสะพาน จ.ประจวบฯ – ท่าเรือแหลมฉบัง ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่จะลดปริมาณการจราจรแออัดบริเวณถนนพระราม 2 และกรุงเทพฯ ด้วย
สำหรับท่าเทียบเรือชุด D เป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบสำหรับปั้นจั่นหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางทั้งหมด โดยจะเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย พร้อมความสามารถในการรองรับบรรดาเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สอดคล้องกับแผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในระยะยาวของกระทรวงคมนาคม ที่เร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือภายในท่าเรือแหลมฉบัง อันเป็นส่วนสำคัญของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ท่าเทียบเรือชุด D เฟสแรกเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการแล้วด้วยความยาวหน้าท่า 1,000 เมตร ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Super Post Panamax Quay Cranes) จำนวน 6 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Cranes) จำนวน 20 คัน ซึ่งในการเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือชุด D จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร ประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ราว 3.5 ล้านทีอียูต่อปี (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) โดยเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเทียบเรือแหลมฉบังได้อีกราว 40% หรือให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้ทั้งสิ้น 13 ล้านทีอียู