“บีทีเอส” เดินหน้าไม่หยุดยั้ง เผยความคืบหน้ารับมอบขบวนรถไฟฟ้าใหม่เข้าสู่ระบบแล้ว 27 ขบวน จากที่สั่งซื้อล็อตใหญ่ 46 ขบวนเมื่อปี 2559 ชี้หากรับมอบแล้วเสร็จในปี 2563 จะทำให้มีขบวนรถมากถึง 98 ขบวน ตู้โดยสาร 392 ตู้
คุณสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2542 บีทีเอสเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรถไฟฟ้าขบวนใหม่ที่บีทีเอสได้สั่งซื้อล็อตใหญ่รวม 46 ขบวนเมื่อปี 2559 ขณะนี้ทยอยรับมอบเข้ามาแล้ว 27 ขบวน ทำให้ปัจจุบัน (สิงหาคม 2562) บีทีเอสมีขบวนรถในระบบรวมแล้วทั้งสิ้น 79 ขบวน เพิ่มขึ้นจาก 52 ขบวน ในปีที่ผ่านมาก่อนเริ่มทยอยรับมอบ
ทั้งนี้ เมื่อรับมอบรถไฟฟ้าขบวนใหม่ครบถ้วนภายในปี 2563 แล้ว จะทำให้บีทีเอสมีรถไฟฟ้าออกให้บริการมากถึง 98 ขบวน เป็นความสะดวกสบาย ที่บีทีเอสตั้งใจมอบให้กับผู้โดยสารและประชาชนทุกคน
“ในปี 2542 ที่เปิดให้บริการครั้งแรก บีทีเอสมีขบวนรถให้บริการ 35 ขบวน และได้สั่งซื้อขบวนรถเพิ่มอย่างต่อเนื่อง 3 ครั้ง รวม 4 ล็อต โดยสั่งซื้อเพิ่มครั้งแรกในปี 2548 จำนวน 12 ขบวน ครั้งที่สอง ในปี 2554 จำนวน 5 ขบวน และครั้งที่สาม ในปี 2559 จำนวน 46 ขบวน นอกจากเพิ่มจำนวนขบวนรถ บีทีเอสยังเพิ่มตู้โดยสารขบวนรถจาก 3 ตู้โดยสารต่อขบวน เมื่อเริ่มให้บริการในปี 2542 เพิ่มมาเป็น 4 ตู้โดยสารต่อขบวน และเมื่อมีขบวนรถครบถ้วน 98 ขบวน จะมีตู้โดยสาร 392 ตู้ เพิ่มจาก 35 ขบวน 105 ตู้โดยสาร เมื่อเริ่มให้บริการ”
คุณสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนรถไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้การเดินรถมีความถี่สูงสุดได้ในชั่วโมงเร่งด่วน แม้จะมีการขยายเส้นทาง และจำนวนสถานีที่ให้บริการเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบีทีเอสให้บริการรวม 44 สถานี ทั้งในสายสีลมและสายสุขุมวิท มีความถี่การเดินรถสูงสุดในชั่วโมงเร่งด่วน เช้าและเย็น ในสายสุขุมวิท (สถานีห้าแยกลาดพร้าว – สถานีสำโรง) ที่ 2.40 นาทีต่อขบวน และในสายสีลม 3.45 นาทีต่อขบวน
“สายสีลมมีข้อจำกัด ช่วงคอขวดสถานีสะพานตากสินเป็นทางเดี่ยว ขบวนรถไฟฟ้าวิ่งได้ทีละขบวน วิ่งสวนกันไม่ได้ จึงต้องจอดคอยเพื่อสลับกันวิ่ง สายสีลมจึงไม่อาจทำความถี่สูงสุดได้มากเท่าสายสุขุมวิท ขณะนี้บีทีเอสอยู่ระหว่างการขออนุมัติใช้พื้นที่ เพื่อปรับปรุงขยายสถานีให้รถไฟฟ้าวิ่งสวนกันได้จากกรมทางหลวงชนบท หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ รวมทั้งได้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อขอดำเนินการปรับปรุงขยายสถานีดังกล่าวต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว หากดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้ความถี่ในสายสีลมเพิ่มมากขึ้น เป็นความสะดวกสบายแก่ประชาชนที่มากขึ้น”
…ฟันเหล็ก