แม้ว่าประเทศไทยจะผ่านช่วงวิกฤติค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานมาแล้ว แต่ก็ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า ค่า PM 2.5 จะหมดไปจากประเทศ เพราะวิถีชีวิตของทุกภาคส่วนยังเยอะเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า การเผาในที่โล่ง และอุตสาหกรรมการผลิต
แต่ผู้ที่ยังเป็นแพะให้หน่วยงานรัฐไล่ล่าจับเป็นรายวันคงหนีไม่พ้น “กลุ่มรถใหญ่” เพราะมีการตั้งด่านตรวจจับควันดำเป็นประจำทุกวัน และมีการจับ-ปรับ รถที่ไม่ผ่านมาตรฐานคันละ 5,000 บาท พร้อมพ่นหมึกแดงติดหน้ารถว่า “ห้ามใช้” ทันที
คุณอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้น กลุ่มรถใหญ่ไม่ใช่ผู้ร้าย และไม่เคยนิ่งนอนใจที่จะร่วมแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งทางสหพันธ์ฯ ยังมีแนวคิดที่จะนำรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้ เนื่องจากในต่างประเทศ ทั้งประเทศเยอรมนี และจีน ได้ผลิตรถไฟฟ้าใช้แล้ว ทั้งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าขนาด 4-6 ล้อ และรถบรรทุกไฟฟ้า ขณะเดียวกันปัจจุบันผู้ประกอบการบางบริษัทในไทยได้นำรถบรรทุกไฟฟ้าทดลองวิ่งประมาณ 10 คัน พบว่า รถบรรทุกไฟฟ้าใช้งานได้ดี แต่มีบางบริษัทที่ทดลองใช้รถบรรทุกไฟฟ้าจะมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ที่ยังไม่มีความเสถียร ซึ่งต้องศึกษาโครงสร้างผลิตแบตเตอรี่ที่นำมาใช้อีกครั้ง เพราะแบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานได้ 7-8 ปี
“เรื่องรถบรรทุกไฟฟ้าได้หารือและเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมบ้างแล้ว เพราะการที่จะนำรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้นั้นภาครัฐต้องให้การสนับสนุนเรื่องภาษี โดยลดภาษีนำเข้าให้ต่ำ เช่น ผลิตที่ต่างประเทศ ขายคันละ 1 ล้านบาท เมื่อนำเข้าจากไทยแล้วควรขายคันละ 1.3-1.4 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการนำมาใช้ และจะได้ประสบความสำเร็จ เหมือนกับการที่ภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวี ทั้งเงินทุนและเงินกู้ต่างๆ เพราะต้นทุนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง อยู่ที่คันละ 3-3.5 ล้านบาท ขณะที่รถบรรทุกจากยุโรปคันละ 5-6 ล้านบาท ส่วนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันยูโร 5 คันละ 4 ล้านกว่าบาท คาดว่าภายใน 1-2 ปีไทยต้องนำเข้ามาให้บริการ สำหรับรถบรรทุกไฟฟ้าคาดว่าจะราคาถูกกว่านี้ เพราะใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ทำให้เครื่องจักรน้อยลง”
อย่างไรก็ดี รถบรรทุกไฟฟ้านี้การชาร์จ 1 ครั้ง จะวิ่งได้ 100 กม. ขณะที่ชาร์จ 8 ชม. จะวิ่งได้ 250-300 กม. โดยสถานีชาร์จไฟฟ้าสามารถมาติดตั้งในพื้นที่สถานีเติมน้ำมันทั่วไปได้ทันที โดยแต่ละแห่งสามารถรองรับได้ประมาณ 10-20 คัน ซึ่งการสร้างสถานีชาร์จนี้แล้วแต่ผู้ประกอบการ บางรายอาจจะมีรถบรรทุกจำนวนมากเหมาะที่จะสร้างสถานีชาร์จไว้ในจุดที่ตามแนวเส้นทางที่รถบรรทุกขนส่ง เช่น วิ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ควรจะสร้างสถานีชาร์จไว้ที่บริเวณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
“การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจว่าพนักงานขับรถไม่แอบลักลอบนำน้ำมันไปขาย รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่งด้วย ทำให้ประชาชนได้รับอานิสงค์ได้บริโภคสินค้าที่มีราคาถูกลง นอกจากนี้รถบรรุกสามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับต่างประเทศได้ด้วย เพราะปัจจุบันจีนได้ใช้รถบรรทุกไฟฟ้าแล้ว หากมีเส้นทางการขนส่งไปยังจีน และมีสถานีชาร์จไฟฟ้าสามารถนำรถบรรทุกไฟฟ้าวิ่งได้ ซึ่งต้องพิจารณาตามแนวเส้นทาง”
…ฟันเหล็ก