นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่นำรถส่วนบุคคลจากต่างประเทศเข้ามาใช้เพื่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลให้สถิติการนำยานพาหนะต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี กรมการขนส่งทางบกตระหนักถึงความจำเป็นในการยกระดับการกำกับดูแลยานพาหนะดังกล่าวเพื่อป้องกันปัญหาและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการใช้รถใช้ถนน จึงได้จัดทำโครงการศึกษาและจัดทำระบบการกำกับดูแลยานพาหนะข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อดำเนินการศึกษาสภาพการณ์ ข้อเท็จจริง และจัดทำมาตรการเพื่อการควบคุมกำกับดูแลยานพาหนะต่างประเทศในประเทศไทย พร้อมทั้งจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้จำแนกกลุ่มยานพาหนะจากต่างประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รถประจำถิ่น รถเพื่อการท่องเที่ยว และรถตามความตกลงระหว่างประเทศ
การกำกับดูแลรถประจำถิ่นซึ่งเป็นรถส่วนบุคคลจากประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยแต่ไม่มีความตกลงด้านการขนส่งทางถนนร่วมกัน ได้แก่ ประเทศเมียนมาและกัมพูชา และมีการนำรถเข้าออกทางด่านศุลกากรเพื่อกิจธุระเป็นประจำ เช่น การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การรักษาพยาบาล การศึกษา เป็นต้น ที่ปรึกษาฯ ได้เสนอให้มีการยื่นคำขออนุญาตใช้รถต่อกรมการขนส่งทางบก
โดยกรมการขนส่งทางบกจะออกเครื่องหมายแสดงการใช้รถ ซึ่งมี QR Code เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลรถและเจ้าของรถ ข้อมูลผู้ขับรถ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาต รวมถึงข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับตามกฎหมายของประเทศไทย นอกจากนี้ ที่ปรึกษาฯ ยังได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการยื่นคำขอฯ แบบออนไลน์เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ยื่นคำขอฯ และสามารถติดตามสถานะของการดำเนินการแบบออนไลน์ได้อีกด้วย ระบบดังกล่าวจะช่วยในการสืบค้นตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังและการจัดเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนในการพัฒนาการกำกับดูแลต่อไป
การกำกับดูแลรถส่วนบุคคลเพื่อการท่องเที่ยว กรมการขนส่งทางบกได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยได้มีประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต ระยะเวลาในการใช้รถ และเครื่องหมายแสดงการใช้รถที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อใช้ในการท่องเที่ยวหรือการอื่นใดที่มีความจำเป็นเฉพาะกรณี พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะนำรถจากประเทศที่ไม่มีความตกลงด้านการขนส่งทางถนนกับประเทศไทยต้องยื่นขออนุญาตใช้รถต่อกรมการขนส่งทางบกผ่านผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวก่อนการนำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งภายใต้โครงการนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้มีการต่อยอดการกำกับดูแลในส่วนของการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการยื่นคำขออนุญาตใช้รถแบบออนไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพิจารณาคำขอฯ และมีการออกเครื่องหมายแสดงการใช้รถ ซึ่งมี QR Code ในขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบกอยู่ในระหว่างการแก้ไขประกาศฯ เพื่อมอบอำนาจให้สำนักงานขนส่งจังหวัดสามารถพิจารณาคำขอฯ และออกเครื่องหมายแสดงการใช้รถได้ รวมถึงลดระยะเวลาการยื่นคำขอฯ ล่วงหน้าด้วยการกำกับดูแลรถตามความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่รถจากประเทศลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ นั้น กรมการขนส่งทางบกอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อกำหนดแนวทางที่เห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศภาคีต่อไป
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาฯ ยังได้พัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android สำหรับอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของผู้ใช้ยานพาหนะต่างประเทศในประเทศไทย โดยโมบายแอพพลิเคชั่นดังกล่าวประกอบไปด้วยแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อแสดงสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และสถานที่ราชการ แผนที่ขอบเขตพื้นที่ที่อนุญาตให้ใช้รถ และหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเป็นสำหรับการแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากกรมการขนส่งทางบกไปยังผู้ใช้รถ เช่น ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติ หรือในกรณีที่กรมการขนส่งทางบกต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือกฎระเบียบต่างๆ ให้ผู้ใช้ยานพาหนะได้ทราบ
โครงการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2562 และกรมการขนส่งทางบกจะได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งด้านกฎหมายและระบบสารสนเทศก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ ในส่วนของรถส่วนบุคคลเพื่อการท่องเที่ยวภายในเดือนกันยายน 2562 และในส่วนของรถประจำถิ่นภายในปี 2563 ต่อไป