กรมทางหลวงชนบท สนองพระราชดำริ จับมือหลายหน่วยงานบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการเตรียมปรับปรุงถนนเพื่อการสัญจรปลอดภัย ตลอดทั้งปี กว่า 105 กิโลเมตร เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้พี่น้องชาวไทยภูเขา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2562 นี้
คุณกฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 ให้รับโครงการปรับปรุงถนนวงแหวนที่เชื่อมระหว่างตำบลอมก๋อย ตำบลนาเกียน ตำบลสบโขง ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากถนนสายทางดังกล่าวเป็นดินโคลนตลอดทาง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในฤดูฝน ครู นักเรียนต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ในการเดินทางไปโรงเรียน และผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปโรงพยาบาลไม่สามารถเดินทางไปได้ทันท่วงที
ต่อมามติที่ประชุมคณะกรรมการโครงการปรับปรุงถนนวงแหวนฯ ได้มอบหมายให้ ทช. ดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการดังกล่าวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการปรับปรุงถนนวงแหวนเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เชื่อมต่อ 4 ตำบล อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เสร็จสมบูรณ์ พร้อมส่งมอบแบบให้กองทัพภาคที่ 3 เพื่อใช้ในการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนต่อไป โดยจะมีบุคลากร ทช.เป็นผู้ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำในด้านวิชาการ
โดยโครงการปรับปรุงถนนวงแหวน เชื่อมโยงพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลนาเกียน ตำบลสบโขง ตำบลยางเปียง และตำบลอมก๋อย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1099 บริเวณ กม.ที่ 0+000 ด้านขวาทาง บริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านอมก๋อย ตำบลอมก๋อย ไปตามถนนเดิมเข้าสู่ตำบลนาเกียน ผ่านตำบลสบโขง มาสิ้นสุดที่แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1099 บริเวณ กม.ที่ 105+892 ด้านขวาทาง เยื้องอ่างเก็บน้ำบ้านดง ตำบลยางเปียง มีระยะทางประมาณกว่า 105 กิโลเมตร โดยระยะทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทช.ตั้งแต่ กม.ที่ 34+200 ถึง กม.ที่ 105+892
ในปีงบประมาณ 2562 ทช.ได้จัดสรรงบประมาณ 23.9 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างก่อน เป็นระยะทาง 17 กิโลเมตร และงบประมาณสมทบ จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) อีก 20 ล้านบาท เป็นระยะทาง 14.7 กิโลเมตร และ กปร. จะอนุมัติเงินงบประมาณปี 2563 อีก 37 ล้านบาท และงบประมาณของ ทช.อีก 80 ล้านบาท
ในส่วนของสายทางที่เหลือทั้งหมด (ระยะทางอีก 6.255 กิโลเมตร ทช.จะออกแบบตามมาตรฐานชั้นทาง) พร้อมอาคารระบายน้ำ ระบบอำนวยความปลอดภัย รวมระยะทางทั้งสิ้น 105.892 กิโลเมตร รวมถึง ทช.อาจจะพิจารณา ตรวจสอบ แก้ไขปัญหา การลื่นไถลของยานพาหนะ ในช่วงสายทางที่มีความชัน gradation เกิน 8 % บริเวณจุดวิกฤต เพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2564 ต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทช.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 2 ครั้ง โดยได้นำเสนอความเป็นมาของโครงการ แผนการดำเนินงานโครงการ แนวทางการพัฒนาโครงการ ข้อมูลด้านวิศวกรรม ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งเสียงประชาชนทั้งหมดเห็นด้วย และยินดีให้ความร่วมมือและต้องการให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเร็ว
…นายสะพานโค้ง