ขนส่งฯเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชิญชวนเถ้าแก่ขนส่งระหว่างประเทศ ไทย-ลาว-เวียดนาม และไทย-กัมพูชา ยื่นคำขอได้ตั้งแต่บัดนี้ – 23 เม.ย.62
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างศักยภาพในการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เปิดรับคำขอผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างประเทศ ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างไทย-กัมพูชา ตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จำนวน 61 ฉบับ และเปิดรับคำขอเพื่อรับการคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม ในการเริ่มใช้ความตกลงในการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่จุดผ่านแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และแดนสะหวัน-ลาวบาว จำนวน 218 ฉบับ ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอรับการคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างประเทศ ได้ที่ ส่วนประกอบการขนส่งสินค้า สำนักการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก โทร. 0-2271-8491 ส่วนการขนส่งผู้โดยสารไม่ประจำทาง สำนักการขนส่งผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก โทร. 0-2271-8521 ส่วนภูมิภาคติดต่อที่สำนักงานขนส่งจังหวัดที่ผู้สมัครมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตความรับผิดชอบ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม – 23 เมษายน 2562 หรือดาวน์โหลดคำขอได้ทางเว็บไซต์ www.dlt.go.th
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา และบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งข้ามแดน ลดความซับซ้อนด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและบุคคลข้ามพรมแดน ตลอดจนส่งเสริมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ อันเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ในการขอรับใบอนุญาตภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา และบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน รวมทั้งต้องยอมรับและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ อาทิ เป็นผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย การบริหารจัดการ ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนและการดำเนินธุรกิจการขนส่งทางถนนในประเทศที่มีแผนจะทำการเดินรถ และต้องรักษามาตรฐานการประกอบการ ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรขององค์กร พัฒนาคุณภาพการให้บริการในระดับมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างโอกาสในการประกอบธุรกิจได้อย่างกว้างขวางและยั่งยืน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคมประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง