การรถไฟฯ เปิดภาพทางลอดใต้ทางรถไฟแบบโค้ง รูปแบบใหม่แห่งแรกของไทย นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พร้อมอัพเดทการก่อสร้างเดินหน้าเร็วกว่าแผนที่กำหนด
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายขีดความสามารถการคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีศักยภาพก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนั้น
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง การอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ผู้โดยสารให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ให้เสร็จตามแผนที่กำหนด
ล่าสุดนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้ขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างระบบรางให้เดินหน้าเป็นไปตามแผนงานไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟสายใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับมุ่งนำนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้างให้เกิดความคุ้มค่า รวดเร็ว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยในการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 72,835 ล้านบาท การรถไฟฯ ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มาใช้ก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟ แบบโค้ง (Railway Arch culvert) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่แห่งแรกในไทย ที่มีลักษณะเป็นคอนกรีตหล่อเสริมเหล็กแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน สามารถยกไปประกอบติดตั้งได้ง่าย ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าร้อยละ 20 – 25 อีกทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ซีเมนต์ และเพิ่มความสูงและความกว้างให้ของทางลอด (Clearance) ซึ่ีงประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวกมากกว่าการทำทางลอดใต้ทางรถไฟแบบเดิมอีกด้วย
สำหรับทางลอดใต้ทางรถไฟรูปแบบโค้งดังกล่าวได้สร้างขึ้นแห่งแรกในพื้นที่ตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว มีระยะช่วงสะพาน 16.5 เมตร ความยาว 33.5 เมตรมีความสูง 4.2 เมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างคาดจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการสร้างเสร็จ จากนั้นจะมีการสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟแบบเดียวกัน ตลอดเส้นทางโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 37 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว จำนวน 21 แห่ง สัญญาที่ 2 ช่วงงาว–เชียงราย จำนวน 8 แห่ง และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย–เชียงของ อีก 8 แห่ง ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังได้พิจารณานำรูปแบบการสร้างทางลอดดังกล่าว ไปปรับใช้กับการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางอื่น ๆ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จจะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าทางการลงทุนเป็นอย่างมาก
ส่วนความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ล่าสุด มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีรายละเอียด ดังนี้
- สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย–งาว ระยะทาง 103.7 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท มี กิจการ
ร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 6.499 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ ร้อยละ 3.443 - สัญญาที่ 2 ช่วงงาว–เชียงราย ระยะทาง 132.3 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท มีกิจการ
ร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี2 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัดเป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 7.766 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ ร้อยละ 0.014 - สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย–เชียงของ ระยะทาง 87.1 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี3 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันมีความคืบหน้า
ร้อยละ 5.548 ช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ ร้อยละ 2.913
ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดใช้บริการได้ในปี 2571 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า สามารถลดระยะเวลาเดินทางเมื่อเทียบกับรถยนต์ได้กว่า 1-1.30 ชม. อีกทั้งยังช่วยเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ กับอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่มุ่งตรงสู่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีนได้อีกด้วย ที่สำคัญยังมีทางขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลทางท่าเรือแหลมฉบัง รองรับนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (SEZ)
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีสถานีและป้ายหยุดรถทั้งสิ้น 26 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง ป้ายหยุดรถ 13 แห่ง และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า บรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อไปยังชายแดนเชียงของ
โดยโครงการนี้ได้มีการออกแบบให้มีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ไม่มีจุดตัดทางถนนโดยทำสะพานรถยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ (Overpass / Underpass) รวมถึงสะพานลอยสำหรับทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ รวม 254 จุด ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งของนายปิยะพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รวมทั้ง สามารถรักษาระดับความเร็วของขบวนรถไฟให้คงที่ มีความปลอดภัย และมีอุโมงค์ทางคู่ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา อีก 4 แห่ง
ประกอบด้วย 1.อุโมงค์สอง จังหวัดแพร่ ความยาว 1.2 กิโลเมตร 2.อุโมงค์งาว จังหวัดลำปาง ความยาว 6.2 กิโลเมตร 3.อุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา ความยาว 2.7 กิโลเมตร 4.อุโมงค์ดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความยาว 3.4 กิโลเมตร รวมระยะทาง 13.5 กิโลเมตร โดยอุโมงค์งาวเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จ รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะเป็นเส้นทางรถไฟที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างอันทันสมัย มีทิวทัศน์รอบข้างสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อีกทั้งยังช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ นำพาให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียนได้ในอนาคตอันใกล้ต่อไป