กรมทางหลวง โดยสำนักวิจัยและพัฒนางานทางได้ดำเนินการโครงการข้อมูลจากอากาศยานไร้คนขับเพื่อตรวจติดตามข้อมูลปริมาณจราจรและการจัดทำแผนที่เชิงวิศวกรรม โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนา การประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับในภารกิจในด้านต่างๆ ของกรมทางหลวง โดยเป็นการปรับเปลี่ยนจากการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่ใช้เพียงภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหว มาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล อย่างเป็นระบบของกรมทางหลวงให้สามารถจัดทำข้อมูลเชิงวิศวกรรมในด้านต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ มีมาตรฐาน ที่เป็นประโยชน์ในภารกิจ ของกรมทางหลวงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตได้
โครงการดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานภูมิภาคมีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) ที่ใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บและการบริหารข้อมูลสายทาง สามารถที่จะใช้งานเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้มีการศึกษาและพัฒนาการใช้ประโยชน์เพิ่มเติม จากอากาศยานไร้คนขับ โดยแบ่งการศึกษาและพัฒนาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1. งานพัฒนาวิธีการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับในงานวิศวกรรมจราจร เป็นการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ในการหาค่าทางวิศวกรรม เช่น นับปริมาณจราจร พร้อมทั้งแยกประเภทยานพาหนะ ความเร็ว และความหนาแน่นของปริมาณจราจร
2.งานประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดทำแผนที่เชิงวิศวกรรม เป็นการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับเพื่อจัดทำแผนที่เชิงวิศวกรรม ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนงานสำรวจภาคสนาม และส่วนงานประมวลผลข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้สามารถนำไปผลิตแผนที่ที่มีความละเอียดถูกต้องตามมาตราส่วนต่างๆ เพื่อใช้ในงานแผนที่เชิงวิศวกรรมที่ต้องการได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานการจัดทำแผนที่
3.งานประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับในการใช้งานด้านอื่นๆของกรมทางหลวง ประกอบด้วย งานสำรวจสำหรับวางแผนและติดตามงานก่อสร้าง งานสำรวจเพื่อจัดทำข้อมูลตำแหน่งทรัพย์สินในเขตทาง งานสำรวจความเสียหายโครงสร้างสะพาน
จากการศึกษาโครงการนี้ กรมทางหลวงจะนำผลลัพธ์จากการศึกษาซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน ไปปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยอากาศยานไร้คนขับ เพื่อนำกระบวนการต่างๆไปใช้ยกระดับการทำงานด้วยอากาศยานไร้คนขับได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านวิศวกรรม และด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ในภารกิจของกรมทางหลวงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตได้