ที่ปรึกษาพิเศษประธานาธิบดีรัสเซีย นาย อีกอร์ เลวิติน ได้เดินทางเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือความร่วมมือในการร่วมลงทุนพัฒนายกระดับเส้นทางขนส่งทางรางตามโครงการระเบียงขนส่ง เหนือ-ใต้ หรือ International North–South Transportation Corridor (INSTC) ที่เชื่อมโยงระหว่างอินเดียไปยังรัสเซียเป็นระยะทางกว่า 7,200 กิโลเมตรด้วยระบบการขนส่งแบบ Multi-modal
การเยือนดังกล่าวเกิดขึ้น หลังผู้นำอิหร่านและรัสเซียได้ลงนามต่ออายุสนธิสัญญาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ออกไปอีก 20 ปี ในปี 2022 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเด็นหลักของการเยือนได้แก่การหารือและลงนามการร่วมทุนพัฒนายกระดับระบบขนส่งทาง รางช่วงเส้นทางเมืองราซส์ไปยังเมืองแอสตาราของอิหร่าน (Rasht-Astara) เป็นระยะทาง 164 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งหลักในระเบียงขนส่งเหนือ-ใต้ที่เชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางจากท่าเรือบันดาร์อับบาสของอิหร่าน ไปยังกรุงบากูของอาเซอร์ไบจัน และนครปีเตอร์สเบอร์กของรัสเซีย
การพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางช่วงเมืองราซส์-แอสตารานี้มีวิวัฒนาการมาจากโครงการพัฒนายกระดับ เส้นทางขนส่งระบบรางระหว่างเมืองกาซวิน-ราซส์-แอสตารา (ฝั่งอิหร่านและอาร์เซอร์ไบจัน) ซึ่งมีการลงนาม ร่วม 3 ฝ่ายระหว่างอิหร่าน รัสเซีย และอาเซอร์ไบจัน ครั้งแรกเมื่อปี 2005 หลังจากนั้นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ในช่วงเริ่มของโครงการระหว่างเมืองกาซวิน-ราซท์ที่มีระยะทาง 130 กิโลเมตรก็ได้เริ่มขึ้นในปี 2009 และแล้ว เสร็จในปี 2018 แล้ว โดยทั้งสามฝ่ายได้เปิดทดลองวิ่งครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2019 เส้นทางรถไฟสายนี้นับว่า เป็นช่วงของการก่อสร้างที่มีความยากลำบากที่สุดเพราะต้องขุดอุโมงผ่านภูเขาถึง 53 อุโมง คิดเป็นระยะทางรวม กว่า 22 กิโลเมตร รถไฟสายนี้ใช้ระบบรางคู่ โดยใช้รางขนาด 1.520 เมตรและ 1.435 เมตร)
ทั้งนี้ การเชื่อมต่อ เข้ากับเส้นทางช่วงกาซวิน-แอสตารา (อาเซอร์ไบจัน) เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 หลังการเปิดใช้บริการ พบว่ารถไฟขนส่งสายดังกล่าวได้มีการให้บริการขนส่งสินค้าไปแล้วเฉลี่ยสูงถึง 3.5 แสนตันต่อปี การพัฒนายกระดับระบบขนส่งทางรางเส้นทางเมืองราซส์-แอสตารา (แอสตาราเป็นชื่อเมืองแฝดที่อยู่ทั้งในฝั่ง ของอิหร่านและฝั่งอาร์เซอร์ไบจัน) ที่มีการลงนามระหว่างรัสเซียกับอิหร่านในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนายกระดับ ระบบรางเดิมเป็นหลักพร้อมพัฒนาความพร้อมให้สามารถรองรับปริมาณคาร์โก้สินค้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยก่อนหน้านี้มีการหารือร่วมทุนสามฝ่ายในวงเงินลงทุนประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญฯ และในเบื้องต้น อาเซอร์ไบจันยินดีร่วมทุนด้วยวงเงินลงทุนสูงสุดที่ 500 ล้านเหรียญฯ จากเงินกู้ยืมภายในประเทศ แต่ด้วยปัญหา ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างอิหร่านกับอาเซอร์ไบจันและความเกรงกลัวในมาตรการค่ำบาตรของสหรัฐฯ ส่งผลให้ อิหร่านหันไปพึ่งรัสเซียสำหรับเงินลงทุนก้อนนี้แทน ซึ่งนำไปสู่การลงนามสองฝ่ายระหว่างอิหร่านกับรัสเซียในครั้งนี้นั่นเอง
ขณะที่การร่วมลงทุนครั้งใหม่ระหว่างอิหร่านกับรัสเซียนี้คาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 800 ล้านยูโร หากแล้ว เสร็จเส้นทางขนส่งสายนี้จะเชื่อมเข้าต่อระบบขนส่งทางรางของรัสเซียที่ก่อสร้างในปี 1941 ในยุคของ สภาพโซเวียต โดยสิ้นสุดลงที่เมืองแอสตาราของประเทศอาเซอร์ไบจันที่เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในอดีต ทั้งนี้ ฝ่ายอิหร่านได้ให้ความเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าว หลังได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัสเซียในครั้งนี้จะ สามารถแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายในเวลาสามปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อิหร่านจะมีระบบขนส่งทางรางที่เชื่อมเข้ากับยุโรป
โดยนอกจากจะนำไปสู่การเปิดระบบเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างกลุ่มประเทศรอบอ่าวและ เอเชียกลางกับตลาดยุโรปที่มีรัสเซียเป็นเป้าหมายหลักแล้ว ยังจะช่วยในการหลีกเลี่ยงปัญหาทางการค้าที่เกิดจาก การค่ำบาตรของสหรัฐฯและพันธมิตรในยุโรปได้เป็นอย่างดี ไม่รวมถึงการย่นระยะทาง (20 วันจากท่าเรือบันดาร์ อับบาส ของอิหร่านไปยังนครเซนต์ปิเตอร์เบอร์กของรัสเซีย) และค่าใช้จ่าย (ลดลงร้อยละ 25) ในการขนส่งที่จะ ตามมาอีกด้วย โดยในอนาคตจะมีประเทศในเอเชียกลางอื่นๆที่จะได้รับผลประโยชน์ด้วย เช่น เตอร์กเมนิสถาน อุชเบคิสถาน และคาซักสถาน เป็นต้น ซึ่งอยู่ในเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือจากท่าเรือ 2 แห่งในเมืองราซส์ของ อิหร่านและมีระบบขนส่งทางรางที่รัสเซียสร้างไว้ในอดีตไว้พร้อมแล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปิดเสรีทางการค้าหรือ PTA ของกลุ่มเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union (EAEU)) ที่มีคาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 2023 และอิหร่านก็เป็นหนึ่งใน ประเทศสมาชิก มีการตั้งความหวังไว้ว่าภายในปี 2030 ระบบขนส่งทางรางเส้นทางนี้จะนำไปสู่ศักยภาพการ ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่อยู่ตามรายทางได้ไม่น้อยกว่า 30 ล้านตัน
แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน