กรมสรรพสามิต ประกาศ “มาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย” ในงานสัมมนาออนไลน์ “ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้ากับภาคธุรกิจไทย ไปถึงไหนแล้ว?” ที่จัดขึ้นโดย Cartrack (คาร์แทรค) บริษัทผู้ให้บริการระบบ Fleet Management, Tracking และเทคโนโลยี IoT หรือ www.cartrack.co.th
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง อธิบายถึง ประเภทของรถที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนว่า จะต้องเป็นรถแบบ BEV หรือ รถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียว และใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่อัดประจุไฟฟ้าจากข้างนอกเท่านั้น โดยรถ BEV ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่
- รถยนต์นั่ง หรือที่มีที่นั่งโดยสารไม่เกิน 10 คน ที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท
- รถยนต์นั่ง หรือที่มีที่นั่งโดยสารไม่เกิน 10 คน ที่มีราคาขายปลีกตั้งแต่ 2-7 ล้านบาท
- รถยนต์กระบะ ที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท
- รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 150,000 บาท
สำหรับการอุดหนุนนี้ มีระยะเวลาตั้งแต่ปี 2565 ไปจนถึงปี 2568 โดยมีตั้งแต่การให้เงินอุดหนุนต่อคัน การลดภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้ารถผลิตต่างประเทศและนำเข้ามาทั้งคัน (CBU) รวมถึง ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วน 9 ชิ้นส่วน และส่วนประกอบของชิ้นส่วน ในระหว่างที่ไทยกำลังพัฒนาการผลิตในประเทศให้รองรับการผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้เองได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ที่สามารถขอรับสิทธิตามมาตรการฯ ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
- ผู้ประกอบอุตสาหกรรม
- ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
- ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตประกอบการเสรี ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ผู้นำเข้าซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามข้อ 1, 2 หรือ 3 แล้วแต่กรณี
- ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จากผู้ประกอบอุตสาหกรรมในข้อ 2
- ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จากบริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และมีสัญญาว่าจ้างการผลิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมในข้อ 2
- ผู้นำเข้าที่มีสัญญาว่าจ้างการผลิตกับบริษัทที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนภายใต้กิจการการผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
นางสาว นุจรีย์ เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ชี้แจงแนวทางและมาตรการฯ เป็น 3 เรื่อง คือ การผลิต โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้งาน
ขณะที่เป้าหมายการผลิตจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2025-2030 โดยรถที่ผลิตจะเป็นรถที่ใช้พลังงานแบบ ZEV (ณ ปัจจุบันคือ BEV และ FCEV) โดยมีตั้งแต่รถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส รถบรรทุก สามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบราง
ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน จะลงทุนพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ ผ่านหน่วยงานและเครือข่ายพันธมิตร การพัฒนากฎระบบด้านการสื่อสาร ด้านความปลอดภัย และการติดตั้งให้สอดคล้อง รวมถึงการลดขั้นตอนการขออนุญาตให้สั้นลง และการพัฒนาแพลตฟอร์มและสมาร์ทกริด เพื่อบริหารจัดการข้อมูลระบบไฟฟ้า เข้าถึงประชาชนและประชาชนก็เข้าถึงได้ดี
ด้านการใช้งาน กระทรวงแรงงานส่งเสริมการใช้งานด้วยมาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ด้านภาษีได้แก่การขยายอัตราค่าไฟฟ้า Low Priority ไปจนถึงปี 2025 ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการสถานีอัดประจุสาธารณะ/พื้นที่ให้บริการเชิงพาณิชย์อื่นๆ และการขอมิเตอร์ตัวที่สองสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU สำหรับผู้ใช้งานแบบประชาชนทั่วไป ส่วนที่ไม่ใช่ภาษี คือ ปรับการขออนุญาต/เชื่อมต่อ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นแบบ One Stop Service และลดระยะเวลาเหลือไม่เกิน 15 วันทำการ รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูล EV mapping เพื่อให้การบริการสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น