กรมทางหลวงชนบท เดินหน้าเตรียมแผนก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เชื่อมพัทลุง – สงขลา ร่นระยะทาง 80 กิโลเมตร พร้อมดันเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในอนาคต ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การขนส่ง เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) รายงานความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ถึง ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์เพิ่มศักยภาพในการเดินทางเชื่อมระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา ลดระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร หรือ ลดระยะเวลาในการเดินทางราว 2 ชั่วโมง สนับสนุนอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จและได้ผ่านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อมจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยเเล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในปี 2566 ได้จัดทำคำขอภายในกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเตรียมเสนอของบประมาณ จำนวน 4,841 ล้านบาท โดยจะใช้เงินกู้และงบสมทบจากงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2566 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2569 ต่อไป
เนื่องจากตลอดแนวทะเลสาบสงขลามีสะพานอยู่เพียง 2 แห่ง ได้แก่ สะพานชะแล้ ตั้งอยู่ด้านล่างของทะเลสาบสงขลาเชื่อมต่อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา กับ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (สะพานไสกลิ้ง – หัวป่า) ตั้งอยู่ด้านบนของทะเลสาบสงขลา เชื่อมต่อ อ.ระโนด จ.สงขลา กับ อ.ควนขนุน จ.พัทลุงโดยสะพานทั้ง 2 แห่ง มีระยะทางห่างกัน 60 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ตรงกลางของทะเลสาบ ต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง จากปัญหาดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง และ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา จึงขอรับการสนับสนุนการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งหากก่อสร้างสะพานดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถลดระยะการเดินทางได้มากกว่า 80 กิโลเมตร ลดระยะเวลาได้ประมาณ 2 ชั่วโมง และยังสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพประชาชนในพื้นที่ จ.สงขลา ให้สามารถเดินทางไปยัง จ.พัทลุงได้รวดเร็วมากขึ้นหากเกิดภัยพิบัติ
โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกจากถนนทางหลวงชนบท พท.4004 (กม.ที่ 3+300) บ้านแหลมจองถนนต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีจุดสิ้นสุดที่ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บริเวณ หมู่ 2 บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์จ.สงขลา รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) นอกจากนี้ บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์ ประกอบกับลักษณะทางโครงสร้างของสะพานที่แตกต่างจากสะพานอื่นและสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ทำให้สะพานแห่งนี้จะเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดในอนาคต