กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันโครงการช่องทางพิเศษสำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย (Perishable Premium Lane : PPL) จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าการส่งออก พืช ผัก ผลไม้ ออกสู่ตลาดโลก
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและงานสำคัญของกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.) (กองยุทธศาสตร์และแผนงาน) เข้าร่วมประชุม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินโครงการช่องทางพิเศษสำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย (Perishable Premium Lane : PPL) ของ ทอท. เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทางได้อย่างมีมาตรฐานสากล ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการจัดตั้ง “สถานที่สำหรับเตรียมสินค้าเกษตร สินค้าเน่าเสียง่าย และตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกต่อไปในอนาคตผ่านทางช่องทางพิเศษ” (Perishable Premium Lane) ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่ให้บริการ บริเวณอาคารคลังสินค้า 4 (WH4) อยู่ภายในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โดยดำเนินงานผ่านบริษัทจำกัดในนาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ทอท. และ บริษัท ทาฟ่า คอนซอร์เที่ยม จำกัด
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณารายละเอียดของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคม โดย ทอท. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานในระยะยาวของโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Pre-shipment Inspection Center) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองกระทรวงในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร และการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนส่งออกทางอากาศไปยังประเทศปลายทางได้อย่างมีมาตรฐานสากล และเป็นการยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าเกษตรให้แก่ผู้ส่งออกและเกษตรกรไทย รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการส่งออกสินค้าภาคเกษตรเพิ่มมูลค่าประเภท พืช ผัก ผลไม้ ไปสู่ตลาดต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ โดยในระยะแรกจะเริ่ม ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และจะขยายต่อไปยังท่าอากาศยานอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ร่วมกันพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูงขึ้น
2. ร่วมกันวางระบบการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนบรรทุกขึ้นเครื่องบิน (pre-shipment inspection) เพื่อขนส่งไปยังประเทศปลายทาง
3. ร่วมกันผลักดันและโน้มน้าวให้ประเทศคู่ค้าตระหนักถึงประโยชน์ของการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนบรรทุกขึ้นเครื่องบิน
4. ร่วมกันผลักดันและโน้มน้าวให้ประเทศคู่ค้าส่งเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรหรือหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจมาตรวจสอบสินค้าเกษตร ณ ท่าอากาศยานของไทยก่อนบรรทุกขึ้นเครื่องบินไปยังประเทศปลายทาง
5. จัดตั้งคณะทำงานหรือคณะเจรจาเพื่อติดต่อประสานงานกับประเทศต่าง ๆ หรือหน่วยงาน
หรือองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ
6. ร่วมกันจัดสัมมนาหรือการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย หรือให้แก่บุคคลภายนอก รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน
7. ร่วมกันพัฒนาระบบดิจิตอลหรือโซลูชั่นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน และเพื่อประสานการทำงานของทั้งสองกระทรวงภายใต้ MOU ฉบับนี้ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
8. จัดตั้งงบประมาณเชิงบูรณาการเพื่อดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้ MOU ฉบับนี้
9. ดำเนินกิจกรรมร่วมกันในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายศักดิ์สยามฯ กล่าวตอนท้ายว่า ได้มีข้อสั่งการโดยมอบหมายให้ สนข. ร่วมกับ ทอท. เร่งจัดทำรายละเอียด MOU ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถลงนามได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 รวมถึงจัดทำ Action Plan เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความชัดเจน และสามารถมุ่งไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certified Hub) ในอนาคต ทั้งนี้จะมีการกำหนดการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม 2565 ต่อไป