การใช้รถยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle หรือ EV เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นพาหนะหลักในการเดินทาง เป็นยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ใช่แค่ประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือสแกนดิเนเวีย เท่านั้น ที่กำหนดนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนส่งเสริมด้านการผลิต และการใช้รถไฟฟ้า โดยทยอยลดปริมาณการใช้รถประเภทอื่น ๆ แม้แต่ในเอเซียโดยเฉพาะประเทศจีนช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าก็เติบโตแบบก้าวกระโดด
ปลายปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัยยานยนต์(CAR) แห่งเยอรมนี รายงานว่า จากการประเมินสถานการณ์ตลาดพบว่าภายในปี 2563 จีนกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ EV ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าไปลงทุนของเทสลา ค่ายรถที่เข้าไปบุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปลงทุนในเซี่ยงไฮ้
ขณะที่ค่ายรถยนต์จีนหลายบริษัทก็หันมาผลิตและทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งขายภายในประเทศและส่งออก โดยได้รัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว
ปัจจุบันค่ายรถจีนที่ผลิตและทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากระจายอยู่หลายมณฑลทั่วประเทศ แบรนด์หลัก ๆ อาทิ SAIC, FAW, Dongfeng, Chana, BAIC, GAC, Chery, BYD , Geely รวมทั้ง Great Wall Motors ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หลังเข้าซื้อโรงงาน Chevrolet
ล่าสุด SAIC Morter ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของจีน เจ้าของแบรนด์ MARVEL. ROEWE, MAXUS รวมทั้งแบรนด์ MG ซึ่งก่อนหน้านี้เข้ามาร่วมทุนกับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ตั้งโรงงานผลิตรถ MG บุกตลาดในประเทศไทย และได้รับการตอบรับเกินคาด ได้เปิดมิติใหม่ให้กับโลกยานยนต์ไฟฟ้าอีกครั้ง โดยจับมือ Zhangjiang Group และ Alibaba JV ของบิ๊กธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Alibaba เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบบชาร์จแบตเตอรี่ไร้สาย ภายใต้แบรนด์ IM Motors ในเซี่ยงไฮ้ ลาสเวกัส ในสหรัฐอเมริกา และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
โดยโฟกัสเป้าหมายผู้บริโภคที่ต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์อัจฉริยะ ทั้งนี้ IM นำร่องด้วการเปิดตัวรถโมเดลใหม่ 2 รุ่น ประกอบด้วยรถซีดาน รุ่น Intelligent Pure Electric Car และรถ SUV ซึ่งทั้ง 2 รุ่นจะเปิดให้ลูกค้าทั่วโลกจองซื้อในงาน Automobile Shanghai ซึ่งจะจัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ ในเดือนเมษายน 2564
ถือเป็นรถไฟฟ้า 2 รุ่นแรก ที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้แบบไร้สาย ขณะเดียวกันพลังงานในแบตเตอรี่จะมีความหนาแน่นมากกว่าพลังงานในแบตเตอรี่ปกติในปัจจุบันราว 30-40% สามารถวิ่งได้ถึง 1,000 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ด้วยจุดขายมีพลังงานและความปลอดภัยคงที่
IM Moter สร้างสรรค์รถไฟฟ้าอัจฉริยะ 2 รุ่นใหม่ โดยนำเสนอเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้อำนวยความสะดวกสบายในการขับขี่ ด้วยระบบปฏิบัติการ IMOS ระบบที่สามารถสลับไปมาระหว่างการแสดงเนื้อหาแบบตอบโต้หลายหน้าจอ ให้ประสบการณ์ใหม่ ช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้งานได้ง่ายและมีความมั่นใจมากขึ้น
นอกจากนี้ยังนำเสนอนวัตกรรมใหม่ SOA หรือ Service-Oriented Architecture ให้มุมมองในการขับขี่และทัศนวิสัยดีเยี่ยมแบบห้าเลน ระบบกล้องอัจฉริยะ Carlog มุมกว้าง 3 ตัว ความละเอียด 150 ล้านพิกเซล และรองรับ 4 K บันทึกภาพได้ 180 องศา นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพสโลว์โมชั่น 480 เฟรม และถ่ายภาพในเวลากลางคืน ฯลฯ ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ
เป็นรถรถอัจฉริยะยุคปัญญาประดิษฐ์ ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการรถยนต์โลก กดดันให้ค่ายรถยักษ์ใหญ่ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ต้องเร่งปรับตัวพลิกกลยุทธ์รับมือ เพราะถูกไล่ล่าจากกลุ่มทุนหน้าใหม่ เจ้าของนวัตกรรมใหม่ผู้ผลิตรถไฟฟ้า แม้ข้อจำกัดทั้งเรื่องความจุแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟฟ้าที่อาจรองรับได้ไม่เพียงพอยังเป็นโจทย์ใหญ่
ถ้าปลดล็อก แก้ Pain Point ได้สำเร็จ บวกกับราคารถไฟฟ้าทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกยอมรับได้ ภาพยักษ์ใหญ่ผนึกกำลังพันธมิตร แตกไลน์ข้ามสายพันธุ์ แข่งผลิตรถไฟฟ้าใช้พลังงานแบตเตอรี่เต็มรูปแบบ ชิงส่วนแบ่งตลาดที่กำลังเติบโตขึ้นทุกวันจะดุเดือดรุนแรงยิ่งกว่านี้