ตั้งแต่ไวรัสร้าย “โควิด-19” เข้ามาสร้างวิกฤตให้กับชาวโลก ทุกคนต่างได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ต้องปรับตัวสู่โหมด New Normal ใส่แมส เว้นระห่าง ล้างมือเป็นประจำ จนสถานการณ์ในไทยเริ่มดีขึ้น แต่เมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบสาธารณะมากกว่าระลอกแรกเป็นเท่าตัว เห็นได้จากระบบขนส่งสาธารณะผู้โดยสารหายไปกว่า 50-70%
บขส.ขาดทุนรวม 500 ล้าน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด ทำให้ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารลดลงอย่างมาก หากเปรียบเทียบการเดินทางตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีผู้โดยสารหายไปกว่า 60-70 % โดยพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยที่ 30,000 คนต่อวัน จากเดิมมีปริมาณเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 คนต่อวัน ส่วนยอดคืนตั๋วการเดินทางก็มีมาต่อเนื่อง
“ปัจจุบัน บขส. ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 43 ล้านบาทต่อเดือน หรือ รวมจากที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขาดทุนรวมกว่า 500 ล้านบาท ดังนั้น บขส.จึงต้องปรับลดรายจ่ายทั้งองค์กร ชะลอการรับพนักงานใหม่ หรือ เปิดโครงการหยุดทำงานโดยไม่รับค่าตอบแทน รวมถึงให้เน้นเพิ่มรายได้ ต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์อย่างเต็มตัว เพิ่มจากเดิมที่ขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว”
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันได้มีการขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ใต้ท้องรถ และมาเสริมวางบนที่นั่งที่ไม่มีผู้โดยสารพบว่า ทำรายได้ให้ บขส. กว่า 170 ล้านบาทต่อปี ซึ่งล่าสุดทาง บขส.ได้เตรียมเสนอมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.มีมติอนุมัติในการเปลี่ยนมติ ครม.ให้ บขส. สามารถดำเนินธุรกิจ ขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ได้ จากเดิม มติ ครม.ได้ให้ บขส. ทำธุรกิจขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว
รถไฟฟ้า MRT ผู้โดยสารหาย 50%
ด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า ผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าในกำกับดูแลของรฟม. ลดลงประมาณ 50% เช่น ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งปกติมีผู้ใช้บริการต่อวันประมาณ 4 แสนคนขณะนี้เหลือเพียงเกือบ 2 แสนคนเท่านั้น ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งปกติมีผู้โดยสารใช้บริการต่อวัน 4 หมื่น ถึง 5 หมื่นคน ปัจจุบัน มีผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นคนเท่านั้น
สำหรับสาเหตุสำคัญที่จำนวนผู้โดยสารลดลง ส่วนหนึ่งก็มาจากการพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลและมีการแจ้งไทม์ไลน์ การเดินทางของผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้โดยสารที่เคยใช้บริการก็มีการหลีกเลี่ยงการเดินทาง รวมถึงนโยบายในการทำงานที่บ้าน (Work from home) ก็ทำให้มีผู้ใช้บริการเดินทางลดลงอยู่แล้วส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนผู้โดยสารปัจจุบันจะลดลงแต่ รฟม. ยังคงเข้มเรื่องมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด โดยขณะนี้มีการนำมาตรการเว้นระยะห่างบนรถ รวมถึงการคัดกรองผู้โดยสารที่ลงมาในพื้นที่ส่วนชานชาลา ไม่ให้มีการกระจุกตัวอยู่แล้ว
บีทีเอส ยอดคนใช้เหลือแค่ 3 แสนคน/วัน
ขณะที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอสผู้โดยสารก็ลดลงประมาณ 50% โดยขณะนี้บีทีเอส มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยวันละประมาณ 3 แสนคนจากช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโควิดระลอก 2 ซึ่งบีทีเอสมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยวันละ 6 -7 แสนคน และต้องยอมรับว่าหากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด ทั้ง 2 ครั้งนี้บีทีเอสจะมีผู้โดยสารใช้บริการแตะ 1 ล้านคนไปแล้ว
อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้แก่ผู้โดยสาร และสร้างความมั่นใจในการใช้บริการ แม้ว่าในขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะลดลง บริษัทฯ ยังคงนำขบวนรถไฟฟ้าออกวิ่งให้บริการมากที่สุด เพื่อเพิ่มการให้บริการด้วยความถี่สูงสุดเป็น 2 นาที 25 วินาที จากเดิม 2 นาที 40 วินาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมมาตรการ Social Distancing นอกเหนือจากมาตรการลดความเสี่ยงต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้