ย้อนกลับไปไม่กี่วันผู้เขียนเคยเปิดฟลอร์เริงระบำถึงบริบทความสำเร็จในคมเหลี่ยมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิตอลและไซเบอร์การบริหารจัดการระบบขนส่งในนาม TMS (Transport Management System)Version 2 ต่อยอดจาก Version 1 จากปากหัวเรือใหญ่ของกลุ่มบริษัทวี คาร์โก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรคชั้นแถวหน้าเมืองไทยอย่าง“คุณอุดม ศรีสงคราม”กรรมการผู้จัดการ (https://www.transtimenews.co/9739/)
ถือเป็นบทพิสูจน์ความท้าทายและความสำเร็จของบริษัทขนส่งสัญชาติไทย-วิสัยทัศน์ผู้บริหารคนไทยที่มองการณ์ไกลและเห็นความสำคัญการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นแรงผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้ถูกจุด เป็นแรงส่งทำให้กลุ่มบริษัทวี คาร์โก สามารถบริการลูกค้าและบริหารจัดเส้นทางการขนส่งจากต้นยันปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ลดเวลา-ต้นทุนขนส่งหลักอย่างพลังงานเชื้อเพลิงได้อย่างอยู่หมัด
ที่อึ้งกิมกี่ไปกว่านั้นว่าด้วยวิทยายุทธจากเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้ถูกถ่ายทอดจากเจ้าสำนักอย่าง“คุณอุดม ศรีสงคราม”ที่แม้ปัจจุบันจะมีวัยวุฒิผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนในยุคอนาล็อกจนอายุผ่านหลัก 7 แล้วก็ตาม ทว่าพอก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลทักษะการใช้งานและสั่งงานผ่าน Applications บนโทรศัพท์มือถือ-แท็บเล็ตได้อย่างพลิ้วไหวและเนียนตา ถือว่าไม่ธรรมดา!
นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้กลุ่มบริษัทวี คาร์โก เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากปฐมบทธุรกิจชิปปิ้งขยับขยายจับงานขนส่งมีรถขนส่งเพียง 4 คันเมื่อ 31 ปีที่แล้ว มาถึงวันนี้มีฟลีทรถขนส่งทุกชนิดทุกประเภทแล้วกว่า 1 พันคัน มีพนักงาน-บุคลากรกว่า 1 พันคน มีรายได้ในแต่ละปีนับพันล้านบาท และมีแผนสยายปีกธุรกิจและความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนลากยาวไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้
ตลอดระยะเวลา 32 ปีแห่งการตะบันวงล้อธุรกิจขนส่งอยู่คู่สังคมไทย หากเปรียบเป็นต้นไม้ก็ถือว่าเป็น“ต้นไม้ใหญ่”ที่แผ่กิ่งใบก้านออกดอกออกผลพอสมควรแล้ว ภายใต้ต้นไม้ใหญ่นี้ได้ให้ผลผลิตเป็น 3 หน่อทายาทธุรกิจที่จะรับไม้ต่อจาก“คุณอุดม ศรีสงคราม”โดยคุณอุดมมีทายาท 3 คนเป็นหญิง 2 คน และอีกคนเป็นลูกชาย ซึ่งทั้ง 3 คนก็เติบโตเรียนจบและเริ่มเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจกันบ้างแล้ว
เปิดตัวทายาทคนโต
ในวงสนทนาข่าวเดียวกันคุณอุดมได้ควงแขนลูกสาวคนโต “คุณยู-อัศรี ศรีสงคราม”รองกรรมการผู้จัดการ มาร่วมพูดคุยและช่วยซัพพอร์ตข้อมูลอีกแรงด้วย ผู้เขียนได้ถามคุณอุดมว่าถึงวันนี้ลูกสาว-ลูกชายก็พรั่งพร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิกันหมดแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่จะวางมือเพื่อให้ลูกๆได้รับไม้ต่อ“ผมยังจะยืนเป็นเสาหลักให้คำแนะให้คำปรึกษาในแง่มุมธุรกิจให้กับลูกๆที่เริ่มเข้ามาช่วยงาน เพื่อให้เขาได้เรียนรู้งานและมีภูมิคุ้มกันที่มากขึ้นไปอีกระยะไปก่อน”คุณอุดม เปรยสั้นๆ
ไร้รอยต่อยุคอนาล็อก-ดิจิทัล
เมื่อถามคุณยูที่เธอมีพื้นฐานการศึกษาจบปริญญาตรีด้านนิเทศศาสตร์จากรั้วจามจุรีแล้วข้ามน้ำข้ามทะลไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ไกลถึงอเมริกา ถือเป็นทายาท Gen 2 ที่อยู่ยุคดิจิทัลพอก้าวเข้ามาสานต่อธุรกิจจากคุณพ่อที่อยู่ในยุคอนาล็อก เธอปรับตัวเข้าหาคุณพ่อมากหรือไม่ ต้องเรียนรู้หรือได้แรงบันดาลใจอะไรจากคุณพ่อเพื่อเป็นต้นแบบในการรับไม้ต่อธุรกิจ
“จริงๆแล้วที่ขาดไม่ได้ที่ได้จากคุณพ่อก็คือประสบการณ์ที่ไม่มีในตำราเรียน ซึ่งคุณพ่อได้ถ่ายทอดให้กับเราได้เยอะมากเวลาที่เราติดตามคุณพ่อไปออกงาน หรือไปร่วมประชุมกับลูกค้าที่ไหนก็ตาม เราเหมือนก็ไปเก็บเกี่ยวมุมมอง การแก้ปัญหา และกลยุทธ์ในการทำงานของเขาไปในตัว”คุณยู เริ่มจุดพลุแรงบันดาลใจที่ได้จากคุณพ่อ
คุณพ่อคือไอดอลของลูกๆ
คุณยูเล่าต่อว่าการพัฒนาองค์กรและการบริการลูกค้าให้ประทับใจได้มาอย่างยาวนานเพราะอะไร คุณพ่อจะเน้นมาตลอดว่าคุณพ่อคือหัวใจบริการ เวลาที่เราให้บริการลูกค้าคุณพ่อเน้นให้เราเป็นคู่ค้ากับลูกค้าเข้าไปช่วยเข้าไปนำเสนอโซลูชั่นใหม่ๆที่ช่วยให้เขามีกำไรเพิ่มขึ้นและลดต้นทุน อย่างเช่นกับระบบ TMS ที่เราเสนอให้ลูกค้าแล้วเขาจะได้ประโยชน์สูงสุดอะไรจากเรา
“การที่เข้ามาช่วยคุณพ่อก็เหมือนเป็นการปรับตัวไปตลาดเวลา ยิ่งยุคเทคโนโลยีไซเบอร์อย่างเรารู้คุณพ่ออยู่ในยุคอนาล็อค แต่พอโลกมันเปลี่ยนคุณพ่อก็เปลี่ยนผันตามโลกการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง เราเห็นแนวทางการทำงานของเขาที่ไม่เน้นกำไรอย่างเดียว เราเห็นรายละเอียดลึกลงไปถึงวิธีวิธีทำงานด้วยว่าทำอย่างไรเราจะโตไปด้วยกันกับคู่ค้า พอเห็นคุณพ่อทำงานแบบนี้มีอะไรเราก็อยากจะเอื้ออยากจะช่วยในทุกอย่างๆที่เราสามารถทำได้ คุณพ่อเป็นคนเก่งไม่เกี่ยงงาน และเป็นไอดอลของลูกๆ”คุณยู สำทับอีกครั้ง
ทันทีที่ลูกสาวพูดจบไม่รอช้าซุปเปอร์คุณพ่อออกอาการปลื้มปริ่มพลางเสริมทันทีว่า“เขาได้ดีเอ็นเอหัวใจบริการมาเต็มๆจากผมแล้วเขาก็ใจสู้ ตอนที่กลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ ผมให้เขาลงไปลุยงานคนเดียวเลย เป็นงานจัดส่งยาขององค์การเภสัช หรือ GPO ส่งไปลุยทุกภาคเลยไปดูไปแก้ปัญหาและเรียนรู้กระบวนการและขั้นตอนการขนส่งที่หน้างานหน้าบ้านผู้ป่วยเลย ซึ่งเขาก็เก่ง สู้งาน เรียนรู้งานได้ไว และฉลาดในการแก้ปัญหาเฉพาะได้ดี ซึ่งเราก็แนะนำเขาและถ่ายทอดให้เขา ที่เน้นมากๆคือหัวใจบริการกับลูกค้าทุกๆราย”
ไม่พัฒนา-ไม่ปรับตัวจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เมื่อถามคุณยูต่อว่าจบปริญญาด้านนิเทศศาสตร์แล้วไปต่อปริญญาโทด้านโลจิสติกส์ดูเหมือนเป็นโลกคนละใบ ต้องปรับตัวมากน้อยแค่ไหน?“ต้องมีปรับตัวอยู่ค่อนข้างมากเพราะเราจบเตรียมสายศิลป์ญี่ปุ่นมาไม่ได้เรียนเลขมาแล้วต่อนิเทศฯพอต่อโทด้านโลจิสติกส์มันคนละขั้วกัน มีการคิดวิเคราะห์และคำนวณตัวเลขที่จำเป็นต้องใช้ คุณพ่อก็พยายามและให้ยูดูแลงานด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับนิเทศฯด้วย ส่วนยูก็จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เวลามีอบรมหรือสัมมนที่ไหนก็จะตามคุณพ่อไปด้วย ต้องปรับตัวหาความรู้และสั่งสมประสบการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะความรู้ไม่มีอะไรที่สิ้นสุด และความรู้มีทุกที หลากหลาย และกว้างมาก เราเองก็ต้องเปิดกว้างที่รับเช่นกัน”
คุณยู ปิดท้ายว่า“โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลไซเบอร์เต็มรูปแบบ เราหยุดนิ่งไม่ได้ เราไม่พัฒนาตัวเราและองค์กรไม่ได้แล้ว กลุ่มบริษัท วีคาร์โก พยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อเป็นบริษัทขนส่งของคนไทยที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งเทคโนโลยี ขับเคลื่อนองค์กรและบริการลูกค้าได้มาตรฐานและประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับ พร้อมยกระดับศักยภาพบริษัทให้อยู่ชั้นแถวหน้าวงการ โลกธุรกิจแข่งขันสูงหากเราไม่พัฒนาไม่ปรับตัวก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
แม้พ่อ-ลูกผูกพันจะกระดูกคนละเบอร์เกิดกันคนละยุคคนละสมัย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นโลหะกำแพงกั้นกันการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้เกิดสะดุดได้ ทุกอย่างถูกจูนเข้าหากันได้อย่างไร้รอยต่อ ที่สำคัญหาใช่อุปสรรคขวางกั้น DNA หัวใจบริการจาก Gen 1 สู่ Gen 2 ไม่ และ DNA หัวใจบริการยังฝังแน่น-ไม่กลายพันธุ์
นี่แหล่ะเขาจึงเรียก…ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น!
:กระบี่ไร้นาม