กรมทางหลวงชนบท ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวเกาะลันตา เสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ศึกษาความเหมาะสม EIA เชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง – ต.เกาะลันตาน้อย จ.กระบี่ คาดเดินหน้าสำรวจออกแบบปี 2564
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) เส้นทางเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เพื่อนำไปประกอบแผนการดำเนินงานในอนาคต ในการแก้ไขปัญหาความยากลำบากในการเดินทาง เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น/ภูมิภาค สนับสนุน อำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนบนเกาะลันตา ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันการเดินทางไปเกาะลันตาจะต้องผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ท่าเรือบ้านหัวหินไปยังท่าเรือบ้านคลองหมาก ซึ่งท่าเรือดังกล่าวเชื่อมระหว่าง เกาะกลางไปยังเกาะลันตาน้อยหลังจากนั้นจะมีสะพานสิริลันตาเชื่อมเกาะลันตาน้อย – เกาะลันตาใหญ่ จึงจะถึงตัวเมือง ย่านชุมชน/การค้า และตรงต่อไปยังหาดต่าง ๆ จนไปสุดถนนที่ท้ายเกาะบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ซึ่งการใช้แพขนานยนต์ในปัจจุบันนั้น แม้จะเป็นระยะทางสั้นเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์บรรทุกรถได้น้อย มีจำนวนจำกัดและให้บริการในช่วงเวลา 06.00 – 22.00 น. เท่านั้น ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น การเดินทางไปรักษาพยาบาล นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นเครื่องบินไม่ทัน ทำให้ผู้โดยสารต้องรอแพเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว รวมถึงปัญหามลภาวะทางน้ำจากคราบน้ำมันที่แพขนานยนต์ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ และมลภาวะทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของแพขนานยนต์
ดังนั้น ทช.จึงเล็งเห็นความจำเป็นของการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างบ้านหัวหิน ตำบลเกาะกลาง กับเกาะลันตาน้อย ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) เส้นทางเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อให้บริการงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การลงทุนและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของเส้นทางดังกล่าว
ทั้งนี้ ทช.ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนไปแล้ว โดยได้เชิญกลุ่มเป้าหมาย ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แบ่งเป็น การประชุมปฐมนิเทศโครงการ, การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1, การประชุมสรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสม โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันคัดเลือกเส้นทางพื้นที่ศึกษาจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 กม.ที่ 26+620 ไปบรรจบกับจุดสิ้นสุดทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ความยาวสะพานรวมเชิงลาดประมาณ 1,950 เมตร รูปแบบโครงการ สรุปได้ว่าเป็นแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานที่มีความยาวช่วงสะพานมากกว่าสะพานทั่วไปทำให้เกิดความสะดวกสบายในการสัญจรทางน้ำ มีขั้นตอนในการก่อสร้างซึ่งรบกวนระบบนิเวศน้อย อย่างไรก็ตามโครงสร้างดังกล่าวสร้างอยู่ในทะเล จึงต้องมีมาตรการป้องกันการเกิดสนิม การป้องกันการกัดเซาะ รวมถึงการป้องกันการสั่นไหวเนื่องจากปัจจัยต่างๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2563 ทช.จะจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 (2 กลุ่ม) เพื่อนำเสนอแนวสายทาง รูปแบบโครงการ พร้อมผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันแก้ไข ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และในเดือนมกราคม 2564 จะมีการจัดประชุมปัจฉิมนิเทศ เพื่อสรุปผลการศึกษาในทุก ๆ ด้านให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) ดังกล่าวนี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2564 จากนั้นจะดำเนินการสำรวจและออกแบบ และเสนอของบประมาณในปี 2565 ซึ่งถ้าได้รับงบประมาณแล้วคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2566 – 2568 ต่อไป