นายมาโนช สายชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติผ่อนคลายมาตรการการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เพิ่มเติม โดยให้ระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางบกและทางน้ำ มีจำนวนผู้โดยสารได้เต็มตามความจุมาตรฐานของพาหนะ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป

ในส่วนของ บขส. ยังคงดำเนินการมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ผ่านเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายระบบอินฟราเรด (Thermoscan) หากพบผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ห้ามเดินทางโดยเด็ดขาด พนักงานประจำรถ พนักงานประจำสถานี และผู้ใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อเข้าใช้บริการภายในสถานีขนส่ง และอยู่บนรถโดยสาร นอกจากนี้ได้ติดตั้งจุดบริการเจลล้างมือ และเพิ่มความถี่ทำความสะอาดภายในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสาร เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางให้กับผู้โดยสารและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. ยอมรับว่ามาตรการผ่อนคลายดังกล่าว จะช่วยให้ บขส. ประกอบการเดินรถได้คุ้มทุนมากขึ้น เนื่องจากโดยปกติแล้ว การเดินรถแต่ละเที่ยวจะต้องมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 70 % ขึ้นไป แต่ที่ผ่านมา บขส. มีอัตราบรรทุกอยู่ที่ 67-68 %เท่านั้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันผู้โดยสารยังใช้บริการรถโดยสารในอัตราที่น้อยมาก โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 80,000 คน ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการเหลือเพียงวันละ 40,000-50,000 คนเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงปัจจัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี มาตรการผ่อนคลายความจุบนรถโดยสารจะช่วยให้ บขส. และผู้ประกอบการรถร่วมฯ สามารถเพิ่มความถี่ของเที่ยวรถในบางเส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก เช่น เส้นทางกรุงเทพ – แม่สอด จากเดิม ให้บริการ 8 เที่ยวต่อวัน เพิ่มเป็น 16 เที่ยวต่อวัน รวมถึงสามารถเปิดเดินรถในเส้นทางที่เคยหยุดไป เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ – ลี้ ลำพูน เป็นต้น