อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการลงทุนขนาดใหญ่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกของประเทศไทย (ชลบุรี ระยองและ ฉะเชิงเทรา) New Growth Engine ของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรม หรือ Digital Disruption
ขณะที่ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 12 ของโลก ในปี 2562 ยอดผลิตรวมกว่า 2,050,000 คัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 อันสืบเนื่องมากจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กระนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้กว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี รวมทั้งมูลค่าการส่งออกในหมวดสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
การเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ เผชิญบททดสอบอีกครั้งภายใต้คลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาป(ICE) ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า หรือยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle-EV) มิติใหม่แห่งวงการยานยนต์ของโลกที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นอย่างมาก และนี่ก็คือโจทย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ใน EEC ที่ไทยต้องเร่งเครื่องให้ถึงเส้นชัย
ด้วยการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์จากการสันดาปของเครื่องยนต์ฟอสซิลอันก่อให้เกิดปัญหามลภาวะ ไปสู่พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็น ‘เมกะเทรนด์’ ที่ผู้ผลิตรถยนต์หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป
แต่สำหรับประเทศไทยการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ อาจมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย เพื่อแลกกับยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น
SMEs ชิ้นส่วนยานยนต์กระทบหนักสุด
จากรายงานของสถาบันยานยนต์ สำรวจในปี 2560 โดยระบุว่า ในห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยกว่า 2,500 ราย และแรงงานทางตรงกว่า 7.5 แสนคน โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบรถยนต์หลัก 21 ราย (ทั้งหมดเป็นต่างชาติ)ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-1 จำนวน 720 ราย ( 33 % เป็นบริษัทไทย) และผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ Tier-2 และ Tier-3 อีกกว่า 1,000 ราย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME สัญชาติไทย)
ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุน ยากจะหลบรอดผลกระทบครั้งนี้
ข้อมูลจากรายงานผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Impact of Transition to Electrical Vehicles on Workers in Auto-parts Manufacturing โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ ระบุว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นการเปลี่ยนแปลง ด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยต์โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs
เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ลดลงเหลือเพียง 1,500- 3,000 ชิ้น ในขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปต้องใช้ถึง 30,000 ชิ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผล กระทบ ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ตลับลูกปืน เกียร์ ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมัน ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง เพลา ลูกสูบ และเทอร์โบ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นเทรนด์ที่ถูกกล่าวถึงไม่ต่ำกว่า 3 ปี ดังนั้น สถานประกอบการขนาดใหญ่มักจะผลิตชิ้นส่วนในหลากหลายกลุ่มจึงสามารถปรับตัวได้ไม่ยากนัก แต่ตามที่ระบุในข้างต้น กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ SMEs ที่ส่วนมากผลิตชิ้นส่วนเพียงกลุ่มเดียว โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีตลาดในการจัดจำหน่ายอยู่ 2 ตลาดหลัก ได้แก่
1. ตลาดชิ้นส่วนเพื่อนำไปใช้ประกอบยานยนต์ (Original Equipment Market: OEM) มีรูปแบบการผลิตในไทยเพื่อประกอบยานยนต์ส่งออก และจำหน่ายในประเทศ
2. ตลาดชิ้นส่วนทดแทน หรืออะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Market: REM) ผลิตชิ้นส่วนฯ รวมภายในประเทศ เป็นตลาดชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการทดแทนชิ้นส่วนเดิมที่เสีย หรือสึกหรอตามสภาพการใช้งาน
ด้วยเหตุนี้ จากเดิมที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนมุ่งเน้นที่จะพัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผลิต ลดต้นทุน อาจไม่เพียงพอ เพราะบริบทเปลี่ยน ห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยน ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องปรับกระบวนการผลิตให้สามารถรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งการหาช่องทางใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะอย่างที่ระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยน แม้จะไม่ถึงกับเซ็ตศูนย์ใหม่ แต่ก็เปลี่ยนจากเดิมไปมาก ดังนั้นกล่าวได้ว่า ใครเปลี่ยนและปรับตัวได้ไว โอกาสชนะก็มีสูง
ยานยนต์ EV โอกาสใหม่ๆของ SMEs
อุตสาหกรรมยานยนต์มีบทบาทต่อจีดีพีประเทศ ดังนั้น เมื่อนวัตกรรมเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามาเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ ถึงตรงนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องมองโจทย์สำคัญให้ออกแล้วว่า ความท้าทายอยู่ตรงไหนบ้าง และอะไรคือโอกาสของเอสเอ็มอี
เพราะด้วยพื้นฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ไทยจะ Move on จากอุตสาหกรรมรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (Hybrid หรือ HEV/PHEV)ไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV หรือ BEV) ซึ่งจากเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับวงจรไฟฟ้า แผงวงจร สายไฟ ย่อมได้ประโยชน์เช่นกัน และรวมไปถึงโอกาสใหม่ๆ ใน 5 กลุ่มวัตถุดิบและสนับสนุนที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้แก่
1.Raw Materials วัตถุดิบที่สำคัญในการอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า คือ แร่ลิเธียมซึ่งเป็นหัวใจหลักของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าจะเป็นแร่ราคาแพงแต่ด้วยเหตุที่แร่ลิเธียมยังมีอยู่จำนวนมาก จึงทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก
2.Battery Lithium ปัจจุบันราคาลดลงจาก250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ลดลงมาเหลือ 170 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และ มีแนวโน้มลดลงอีกในอนาคตจากการที่เทคโนโลยีในการผลิตที่ดีขึ้นและราคาแร่ลิเธียมลดลง และความต้องการใช้แบตเตอรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงเป็นจุดที่ได้เปรียบในตลาด ทำให้ขนาดของตลาดมีขนาดเติบโตขึ้น อีกทั้งผู้ผลิตมีสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะ ทำให้ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตได้สูงในอนาคต
3. EV Car Manufacturers อย่างที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีนำชิ้นส่วนหรืออะไหล่จากโรงงานผลิตรถยนต์แบบเดิมไม่มากนัก เพราะการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันและไฟฟ้านั้นต่างกันสิ้นเชิง จึงมีโอกาสที่จะเห็นการเข้ามาแข่งขันของผู้ผลิตรายใหม่ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ Know how เดิม แต่ผู้ผลิตเดิมก็ยังได้เปรียบในเรื่องของ Brand และช่องทางการขายและบริการ ที่สั่งสมมานานและเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า
4.EV Charging Station สำหรับรถไฟฟ้านั้นสามารถเติมพลังงานได้ทั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะหรือในบ้านและที่ทำงาน ซึ่งทำให้ผู้ใช้รถสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานีชาร์จไฟฟ้ายังไม่ใช่สถานีแบบ Fast Charge ทำให้ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการชาร์จนานถึง 5 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตรงนี้ใครแก้โจทย์ได้ ก็จะก้าวสู่ผู้นำในตลาดนี้
5.Battery Recycling สำหรับแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วนั้นยังคงมีกำลังไฟมากถึง70% ซึ่งเราสามารถนำไปรีไซเคิลใช้ได้อีกครั้ง เช่น ในประเทศญี่ปุ่น จะนำแบตเตอรี่ ของรถ Hybrid ที่หมดอายุแล้วมาใช้เก็บพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ของร้าน 7-11 เป็นต้น และปัจจุบันประเทศจีนสามารถครองตลาดการรีไซเคิลแบตเตอรี่มาใช้ใหม่มากที่สุดในโลก
รวมถึงความต้องการ Software รองรับระบบต่างๆ ที่เป็นนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตไม่ว่าจะเป็น Autonomous Driving, Shared Mobility, Connected Mobility ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สำคัญในกระบวนการผลิตในโลกอนาคต คือ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หรือ Industrial Automation นับเป็นเทรนด์ของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความทันสมัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ซึ่งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิตอล IoT สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น โจทย์ใหม่ของเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ การตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด
แหล่งอ้างอิง : สถาบันยานยนต์
: รายงานผลกระทบของการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ชิ้นส่วนยานยนต์
: Impact of Transition to Electrical Vehicles on Workersin Auto-parts Manufacturing รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการhttp://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/15860.pdf