นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ที่ 3 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 2 ช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก ให้การต้อนรับ ณ สถานที่ก่อสร้างอุโมงค์ สถานีหัวหมาก ถนนรามคำแหง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ โดยกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที ผู้รับจ้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 2 ช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก พร้อมเดินเครื่องหัวเจาะเพื่อก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าตัวที่ 3 ฝั่งขาเข้า จากสถานีหัวหมากไปยังสถานีรามคำแหง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยที่ผ่านมา รฟม. ได้เดินเครื่องหัวเจาะ ตัวที่ 1 และ 2 ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562
โดยหัวเจาะอุโมงค์ ตัวที่ 1 อยู่ระหว่างขุดเจาะจากสถานี รฟม. ไปยังสถานีรามคำแหง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563 และหัวเจาะอุโมงค์ ตัวที่ 2 อยู่ระหว่างขุดเจาะจากสถานี รฟม. ไปยังสถานีหัวหมาก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2564 นอกจากนี้ รฟม. ยังมีแผนเดินเครื่องหัวเจาะ ตัวที่ 4 ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ 2 จากสถานีคลองบ้านม้าไปยังสถานีหัวหมาก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ยังได้นำเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์ที่มีประสิทธิภาพขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียว พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนอันประกอบด้วย ท่อลำเลียงดินออก อุปกรณ์สำหรับควบคุมทิศทาง อุปกรณ์ไฮโดรลิคส์เพื่อการลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้า – ออก ในระหว่างการขุดเจาะและการก่อสร้างอุโมงค์ อุปกรณ์ระบายอากาศ มาใช้ในงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสัญญาที่ 2 จากสถานีหัวหมากไปยังสถานีรามคำแหง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 1.9 กิโลเมตร โดยเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ที่นำมาใช้นี้ มีขนาดความยาว 9.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.58 เมตร น้ำหนัก 370 ตัน สามารถขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 20 – 30 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10 – 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร
ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม ร้อยละ 56.86 เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.57 ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยสัญญาที่ 2 มีความความก้าวหน้าอยู่ที่ร้อยละ 52.04 และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567 โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มฯ ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง ทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบการเดินทางหลักที่สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างยั่งยืนต่อไป