การบินไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯถึงผลการดำเนินงานบริษัทและบริษัทย่อยไตรมาส 2 ปี 62 มีรายได้รวม 42,509 ล้านบาทต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4,730 ล้านบาท หรือ 10.0% โดยสาเหตุสำคัญจากปริมาณการผลิตลดลงจากปัญหาเครื่องยนต์ส่งผลต่อการใช้งานของเครื่องบิน ผนวกด้วยปัจจัยด้านการแข่งขันรุนแรง ทำให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 3,270 ล้านบาท หรือ 7.7%
ขณะเดียวกันมีรายได้จากการบริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก 180 ล้านบาท หรือ 6.0% เนื่องจากการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานให้หน่วยงานภายนอกเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มีค่าใช้จ่ายรวม 49,621 ล้านบาท ต่ำกว่าปี ก่อน 425 ล้านบาท หรือ 0.8% สาเหตุหลักเกิดจากค่าน้ำมันที่ลดลง 288 ล้านบาท หรือ 2.0% เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง 5.4% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมัน โดยรวมลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ส่งผลให้บริษัทฯและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 7,112ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 4,305 ล้านบาท (153.4%) และมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ และเครื่องบินจำนวน 172 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 522 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี
โดยส่งผลให้บริษัทฯและบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 6,878 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปี ก่อน 3,792 ล้านบาท หรือ 122.9% ซึ่งเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 6,884 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 3.15บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.73 บาทต่อหุ้น หรือ 121.8%
ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 บริษัทฯ มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง 5.4% คิดเป็นเงินประมาณ 1,950 ล้านบาท ในขณะที่มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 4.0% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 74.7% ต่ำกว่าปี ก่อน ที่มีอัตราการบรรทุกเฉลี่ย 75.8% มีจำนวน ผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 5.72 ล้านคนต่ำกว่าปีก่อน 3.1% เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในเส้นทางภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากสายการบินต้นทุนต่ำที่เพิ่มจำนวนเที่ยวบินและจุดบิน และเส้นทางข้ามทวีปที่ได้นับผลกระทบจากสายการบินตะวันออกกลาง
ด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้าน พัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 3.4% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์(RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 16.3% ส่งผลให้อัตรา การบรรทุกสินค้า (FreightLoadFactor) เฉลี่ยเท่ากับ 52.8% ต่ำกว่าปีก่อนที่มีเฉลี่ย 60.7%
โดยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 จำนวน 103 ลำ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 2 ลำ มีการบริหารอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน(AircraftUtilization)เท่ากับ 11.5ชั่ว โมง ใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน