พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขกฎหมายจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่12) พ.ศ.2562 ฉบับนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากประชาชนโดยตรงกว่า 500 คน ความเห็นจากสื่อมวลชน และทางเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการผ่านร่างกฎหมายอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ทั้งให้คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ไขให้กฎหมายคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ไม่ใช่คุ้มครองเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ส่วนประเด็นที่สหพันธ์การขนส่งฯ ไม่เห็นด้วยเรื่องที่แก้โทษปรับให้สูงขึ้น 5 เท่านั้น พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ชี้แจงว่าจริง ๆ แล้วโทษปรับของผู้ขับขี่ยังคงเท่าเดิม แต่ที่เปลี่ยนคือ โทษปรับของนิติบุคคล คือเมื่อรถในสังกัดของบริษัททำผิดกฎจราจรได้รับใบสั่ง บริษัทต้องแจ้งชื่อผู้ขับรถให้เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 30 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปออกใบสั่งใหม่กับบุคคลที่กระทำความผิด มิฉะนั้นบริษัทจะมีโทษปรับ 5 เท่า
“มันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม บทบัญญัตินี้จึงเพิ่มความรับผิดชอบของนิติบุคคลว่ามีหน้าที่ต้องดูแลรถของตัวเอง เมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้นต้องแจ้งต่อรัฐว่าใครคือผู้กระทำความผิด ถ้าไม่แจ้งจึงจะเป็นความผิดที่จะถูกปรับเป็น 5 เท่า ซึ่งผมมองตรงนี้ความรับผิดชอบของบริษัทก็ชัดเจน บริษัทต้องรับรู้และรับผิดชอบต่อสังคม”
ส่วนประเด็นที่สหพันธ์ขนส่งฯอ้างว่ากฎหมายให้อำนาจตำรวจในการจับและออกคำสั่งว่าทำผิดกฎหมายเป็นที่สุด ไม่สามารถต่อสู้คดีต่อศาลได้ตามหลักสากลนั้น พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ยืนยันว่าไม่จริง กฎหมายฉบับนี้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหายังสามารถปฏิเสธข้อหา และไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ตามเดิม รวมถึงสามารถร้องเรียนเจ้าพนักงานได้ หากถูกแจ้งข้อหาโดยไม่เป็นธรรมด้วย