นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดโครงการสร้างความปลอดภัยในการใช้ถนน จ.เชียงใหม่ พร้อมติดตามการยกระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะในพื้นที่เชียงใหม่ – ลำพูน
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการ อบจ. – ขนส่ง รวมใจ สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และยกระดับระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่” โดยมี นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจักรพรรดิ์ คล่องพยาบาล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่)

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวในพิธีเปิดโครงการฯ ว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนโดยมุ่งหวังลดอุบัติเหตุและการสูญเสีย พร้อมส่งเสริมวินัยจราจรและความรู้ด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ กรมการขนส่งทางบก และ อบจ.เชียงใหม่ มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 250 คน ประกอบด้วย เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปซึ่งจะได้รับความรู้ ความเข้าใจในการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องและปลอดภัยทั้งเรื่องกฎจราจร วิธีป้องกันอุบัติเหตุ มารยาทในการขับรถ การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การให้ความช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงการส่งเสริมให้สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกครั้ง และยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้กับตนเอง ขยายผลไปถึงครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดต่อไป
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและด้านการท่องเที่ยวของภาคเหนือ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะ อาทิ โครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การมีส่วนร่วมของ อบจ.เชียงใหม่ ในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ การส่งเสริมให้มีการนำรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ EV BUS มาให้บริการ การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมไปยังจุดสำคัญ แหล่งท่องเที่ยว เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อกับท่าอากาศยาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟ หรือ Feeder ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมซึ่งปัจจุบัน
อบจ.เชียงใหม่ ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทางหมวด 1 เส้นทางสายที่ 18 สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 – อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย และสายที่ 20 สถานีขนส่งฯ แห่งที่ 2 – ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะนำรถโดยสารประจำทาง EV BUS มาให้บริการทั้ง 2 เส้นทาง สามารถเชื่อมโยงกับการเดินทางรูปแบบอื่น ไปยังแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ราชการ ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง
ในส่วนของการพัฒนาเส้นทางการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ภายในจังหวัดลำพูน เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว สำนักงานขนส่งจังหวัดลำพูนได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (อบจ.ลำพูน) จัดทำแนวทางการพัฒนาโดยปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตเมือง หมวด 1 ให้ตรงกับความต้องการเดินทางของประชาชนในปัจจุบัน และแก้ไขปัญหาการไม่มีสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลำพูน จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทางสนามกีฬาจังหวัดลำพูน – วัดบ่อแฮ้ว (วัดกลมธัชชายาราม) ปรับปรุงเป็นเส้นทางสนามกีฬาจังหวัดลำพูน – สถานีรถไฟจังหวัดลำพูน – โรงเรียนเลาหจิตร 2) เส้นทางวงกลมสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลำพูน – นิคมอุตสาหกรรม ปรับปรุงเป็นเส้นทางสนามกีฬาจังหวัดลำพูน – นิคมอุตสาหกรรม – ดอยติ
จากนั้น นายสุรพงษ์ ได้ลงพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 1 (สถานีขนส่งช้างเผือก) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่สมานสามัคคี เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจของภาคเหนือ รวมถึงเชื่อมโยงโครงข่ายทางถนนและทางราง เพื่อยกระดับศักยภาพระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ ผ่านแผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะที่สำคัญ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี รวม 16 สถานี ระยะทาง 15.8 กม. เส้นทางที่ 2 สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่ – แยกศรีบัวเงินพัฒนา รวม 13 สถานี ระยะทาง 11 กม. และเส้นทางที่ 3 สายสีเขียว ช่วงแยกรวมโชคมีชัย – ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวม 10 สถานี ระยะทาง 12 กม. รวมทั้งหมด 39 สถานี ระยะทาง 38.8 กม. ซึ่งตามแผนจะเริ่มดำเนินการเส้นทางที่ 1 สายสีแดงก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการต่อขยายเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
