ไม่รู้ว่าใครได้รจนาเอาไว้กับวลีที่ว่า “ใช้…ก็หมด ไม่ใช่…ก็หมด คือ…เวลา”ดูเหมือนเป็นวลีช่วยสะกิดใจผู้คนอย่าได้จมปรักกับอดิตกาลที่ผ่านมา พลางเร่งเร้าสารอะดรีนาลีนในร่างกายให้พลุ่งพล่านโฟกัสกับปัจจุบันกาลบนภาระหน้าที่รับผิดชอบให้ดีที่สุดได้ดีนักแล
ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวที่แม้ปฏิทินธุรกิจในวงล้อการแข่งขันบนกาลเวลาปี 2566 ได้โบกมือลาไปแล้ว พร้อมกับเปิดม่านฟ้าต้อนรับปีศักราชใหม่ 2567 ได้ยังไม่ถึงครึ่งขวบเดือนก็ตาม ทว่า กับกาลเวลาที่ผ่านไปในทุกแง่มุมธุรกิจการแข่งขันย่อมทิ้งไว้ซึ่ง“ผลงาน”เสมือนภาพสะท้อนจากแรงขับเคลื่อนในทุกองค์กร
เช่นเดียวกับวงล้อธุรกิจการแข่งขันตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่สายพันธุ์ญี่ปุ่นในเมืองไทย โดยขอสรุปผลงานหลังทุกค่ายได้เปิดฟลอร์เซิ้งกลยุทธ์การตลาดอย่างเมามันในรอบขวบปี 2566 ที่ผ่านมา ดัชนีชี้วัดจากสถิติยอดจดทะเบียนครั้งแรก ประเภทรถบรรทุก (รวมทุกขนาดน้ำหนัก)ตั้งแต่ ม.ค.-ธ.ค.2566 อ้างอิงจากกรมการขนส่งทางบก เป็นภาพสะท้อนชัดไว้ ดังนี้
เริ่มจากอันดับหนึ่งในปฐพียังเป็นค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการอย่างอีซูซุ โชว์ศักยภาพดุดันพร้อมกวาดไปนิ่มๆโดยไม่เกรงใจใครถึง13,675 คัน ส่วนพี่รองค่ายคู่ต่อกรค่ายอีซูซุตลอดกาลอย่าง“ฮีโน่”ก็โชว์ผลงานบานตะไทไม่น้อยหน้าพี่ใหญ่เช่นเดียวกัน โดยโซโล่สบายๆสไตล์รถเสี่ย 10,692 คัน
ขณะที่เบอร์ 3 ของตลาดที่ยังยึดไว้เหนียวหนึบทุกปี “ค่ายยูดี”ไงจะใครล่ะ รีดพลังพลางสวมจิตวิญญาณแห่งเกมบะสาวพวงมาลัยสะสมได้ถึง 1,410 คัน และอันดับ 4 สมญานาม“ชบาแดง”อย่างค่ายฟูโซ่นับตั้งแต่บริษัทแม่กระชากจากอ้อมอกดิสทริบิวเตอร์เดิมมาทำการตลาดเองกับมือจนกระทั่งเปลี่ยน CEO ไปหลายหน่อพันธุ์แล้ว ทว่า แต่ค่ายชบาแดงก็ยังแผลงฤทธิ์ไม่ออก(ซะที) โดยปี 2566ที่ผ่านมาเก็บเล็กผสมน้อยไว้(เพียง) 313 คัน
ในบรรดา 4 ค่ายรถใหญ่จากแดนซามูไรที่ว่ามานี้ พี่ใหญ่และพี่รองเสมือน “มวยคู่เอก”สังเวียนรถใหญ่แดนปลาดิบ ขออนุญาตละไว้ซึ่ง“ความยิ่งใหญ่และใหญ่ยิ่ง”ที่จะไม่กล่าวถึงมากนักและขอละไว้ในฐานที่เข้าใจกันดี ทว่า ขอส่องดูท่าทีค่ายยูดี ทรัคส์ ในวงล้อธุรกิจปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ยูดีได้เดินเครื่องยนต์ธุรกิจพร้อมสับเกียร์ Escot โชว์ผลงานได้ดีต่อเนื่อง
สถิติยอดจดทะเบียนรวมค่ายยูดี ทรัคส์ทั้งปีทะลุถึง 1,410 คัน ถือเป็นตัวเลขการเติบโตเพิ่มถึง 47% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว เป็นการเติบโตทุบสถิติในรอบ 5 ปีหลัง โชว์ศักยภาพที่ดีต่อเนื่องและดีพอที่จะยึดเบอร์ 3 ตลาดรถใหญ่ญี่ปุ่นไว้เหนียวหนึบอีกปี พร้อมกับทิ้งระยะห่างเบอร์ 4 ของตลาดนับพันคัน
ทั้งนี้ หากทวนเข็มนาฬิกากลับไปพร้อมส่องดูสถิติยอดจดทะเบียนในรอบ 5 ปีหลังของค่ายยูดี ทรัคส์แล้วล่ะก็ สายตาจะประจักษ์แจ้งจากสถิติ ดังนี้
ปี 2565 = 959 คัน
ปี 2564 = 1,011 คัน
ปี 2563 = 864 คัน
ปี 2562 = 1,158 คัน
ปี 2561 = 890 คัน
ต้องจับตาดูว่าทิศทางการเติบโตวงล้อการแข่งขันตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่เมืองไทยปี 2567 จะออกมาในทิศทางใดท่ามกลางอุปสรรคที่รอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวผนวกกับความท้าทายเมื่อไทยเริ่มบังคับใช้มาตรฐาน Euro 5 กับรถยนต์ประเภทต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา
แน่นอนว่าย่อมเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิตรถทุกค่ายที่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคารถอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเป็นตัวกดทับกำลังซื้อลูกค้าในฐานะผู้บริโภค พร้อมฉุดอัตราการเติบโตในแง่ยอดขายของทุกค่ายรถใหญ่ปรับตัวลดลงหรือไม่?อย่างไร?
ขณะที่ค่ายยูดี ทรัคส์ กับผลงานที่ดีในห้วงเวลาปี 2566 ต่อเนื่องมาปี 2567 จะรักษาฟอร์มเก่งไว้ดีต่อเนื่องอีกปี จะเป็นปีมังกรทองของยูดี ทรัคส์ช่วยนำพาความนิยมของลูกค้าคนไทยในแบรนด์ไปได้ไกลกว่าด้วยยอดจดทะเบียนที่ดีกว่าและไกลกว่าปี 2566 ที่ผ่านมาหรือไม่?อย่างไร?
กาลเวลาเท่านั้น…จะเป็นเครื่องตัดสิน!
:จิ้งเหลนไฟ