ปัจจุบัน สปป.ลาว มีจำนวนการใช้รถไฟฟ้า ทั้งหมด 3,201 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 1,428 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1,773 คัน แต่มีสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพียง 20 จุด โดย ท่านทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้รายงานต่อกองประชุมสรุปแผนพัฒนาพลังงานและบ่อแร่ ประจำปี 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งมีวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาความยุ่งยาก ด้านเศรษฐกิจ – การเงิน ซึ่งได้มีหลายแผนการ โดยหนึ่งในแผนการ คือ การสนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ให้มากขึ้น เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่จำเป็น ซึ่งในระยะหลัง สปป.ลาว ประสบปัญหาการนำเข้าน้ำมัน ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงใช้
รัฐบาลจึงสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีหัวชาร์จรถไฟฟ้า จำนวน 20จุด และ มีบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถทั่วไป หันมาจำหน่ายรถไฟฟ้า จำนวน 18 บริษัท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าใน สปป.ลาว ให้เพิ่มมากขึ้น กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้จัดทำข้อตกลงว่าด้วยกิจการสถานีชาร์จไฟรถไฟฟ้า เพื่อบริการซึ่งประกอบด้วยเงื่อนไข และขั้นตอนในการออกใบอนุญาต การกำหนดราคาไฟฟ้าให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งราคาชาร์จไฟไม่ให้เกิน 3 เท่าของอัตราราคาที่ซื้อจากไฟฟ้าลาว ได้กำหนดมาตรฐานตู้ชาร์จรถไฟฟ้า โดยกำหนด 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐาน IEC TYPE2 ของสากล และมาตรฐาน GB/T ของ สป.จีน ที่เป็นระบบ AC และ DC มาตรฐานความปลอดภัย การติตตามตรวจตรา และการแบ่งขั้นคุ้มครองระหว่างศูนย์กลางและท้องถิ่น ขณะที่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล) ยังตระเตรียมติดตั้งสถานีชาร์จไฟให้ได้ 20 จุด ในปี 2023 ให้ทั่วประเทศ รวมทั้ง การจัดตั้งศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้า เพื่อรองรับและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้มากยิ่งขึ้น
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์