ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TTB Analytics ประเมินว่า ภาคธุรกิจขนส่งไทยในปี 2565 จะเติบโตประมาณ 10.5% โดยเป็นผลมาจาก การฟื้นตัวของการขนส่งสินค้า และธุรกิจบริการที่สนับสนุนการขนส่งขยายตัว จากการที่ภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวกลับมาอยู่ภาวะปกติ และแรงสนับสนุนจากความต้องการสินค้าส่งออกที่เร่งการส่งออกสินค้าเพื่อรองรับปริมาณกิจกรรมทางการค้าที่สูงขึ้น
สำหรับต้นทุนการขนส่งสินค้าเป็นต้นทุนที่ใหญ่ที่สุดของมูลค่าต้นทุนโลจิสติกส์ และการขนส่งหลักยังคงเป็นการขนส่งสินค้าทางถนน ปัจจุบันผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ Supply chain ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการนำอุปกรณ์ GPS Tracking และ Software ระบบการบริหารการขนส่งเข้ามาช่วยจัดการวางแผน จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) DTCENT ผู้นำธุรกิจการเป็นผู้ออกแบบ วิจัย พัฒนา จัดจำหน่าย และให้บริการอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking) และพัฒนาระบบไอโอที (IoT Solution) และ Artificial Intelligence (AI) ครบวงจร รวมถึงวิจัยและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เพื่อการบริหารการขนส่ง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และถือเป็น DTCENT มีสินค้า บริการ และ Solution ที่ครบวงจร ซึ่งมีการให้บริการรถที่ติด GPS ที่เชื่อมต่อกับระบบกรมการขนส่งทางบกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ระดับ 9.1%
นอกจากธุรกิจ GPS Tracking แล้ว กลุ่มบริษัทฯ มีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นใหม่ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเป็นระบบอัจฉริยะในกลุ่มงาน IoT อันประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการน้ำ, ระบบ SMART CITY SOLUTION หรือระบบบริหารการจัดการองค์กรส่วนท้องถิ่น, BAMS (Business Activity Management System), BIM (Building Information Modeling), EV Platform, Logistics Demand-Supply Matching Platform และระบบ AI สำหรับงาน IoT
ตลอดจนมีแผนจะเข้าลงทุนในธุรกิจที่คล้ายคลึงและมีความเกี่ยวเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจรวมทั้งเตรียมเดินหน้าขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในรูปแบบการร่วมทุนกับพันธมิตรจากต่างประเทศอีกด้วย
ปัจจุบัน DTCENT มีบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิศวกรรม ซอฟต์แวร์ จำกัด (WS) บริษัท ไทย ดิจิทัล แมพ จำกัด (TDM) และบริษัท ดี คอร์ ซิสเต็ม อินทริเกรเตอร์ จำกัด (DCORE) โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 90% ,95% และ 90% ตามลำดับ
ภายใต้แกนนำของ “ทศพล คุณะเพิ่มศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DTCENT ซึ่งมองเห็นโอกาสในการต่อยอดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงตัดสินใจนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยได้เสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 305 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.31% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 2.86 บาท และคาดว่าเข้าซื้อขายใน SET ได้ภายในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ “DTCENT” ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
สำหรับวัตถุประสงค์การเข้าระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการลงทุนสร้างศูนย์บริหารจัดการ และ บริการข้อมูลยานพาหนะ (Vehicle Monitoring and Support Center) และ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ
“ทศพล” กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยความต้องการซื้อหุ้นมากกว่าจำนวนที่จัดสรร สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัท ขณะที่ราคาหุ้นที่ระดับ 2.86 บาทต่อหุ้น เป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่อนาคตมีแผนการลงทุนที่จะสนับสนุนการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยภายหลังจากการเข้าระดมทุนใน SET จะทำให้มีศักยภาพ ทั้งด้านฐานะการเงินสามารถรองรับการลงทุนในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า
“จากนี้ไป บริษัทฯ มีแผนบุกตลาด IoT Solution และเทคโนโลยี AI ร่วมกับ 2 พันธมิตรยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น (YES) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น DTCENT สัดส่วน 18% และ บริษัท บุญรอด ซับพลายเชน จำกัด (BRS) ถือหุ้นในสัดส่วน 15 % ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบุญรอดบริวเวอรี่ ผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มในไทย และมีบริษัทในเครือหลากหลายธุรกิจ จะช่วยให้ DTCENT ขยายตลาด IoT Solution สร้างฐานลูกค้า GPS สร้างโอกาสในการรุกงาน Smart City ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นในระดับสูง สนับสนุนผลงานในอนาคตเติบโตอย่างก้าวกระโดด”
ทั้งนี้ YES เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนสำหรับยานพาหนะ เช่น สายรัดสายไฟ มิเตอร์ สายไฟฟ้าอุปกรณ์เบรก เป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทฯ ขยายธุรกิจในส่วนของอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะแบบ OEM ไปสู่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ BRS เป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มในไทย มีบริษัทในเครือมากมายสามารถเป็นฐานลูกค้า GPS กลุ่มใหม่ๆ ให้บริษัทฯ ได้ รวมถึงใช้เครือข่ายของ BRS เพิ่มศักยภาพในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ Supply chain solutions ใหม่ๆ หรือนำเสนอนโยบายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นได้ บริษัทฯ สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ให้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต่างๆ รวมถึงหาโอกาสในการขยายไปยังธุรกิจอื่น เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้แก่กลุ่มบริษัทในอนาคต
DTCENT มีจุดเด่นที่น่าสนใจประกอบด้วย เป็นบริษัทที่มีบริการครบวงจร ที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มธุรกิจที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ขณะที่เป็นผู้นำระบบติดตามยานพาหนะ GPS Tracking อันดับ 1 ในประเทศไทย (อ้างอิงจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกในเดือนมกราคม 2565) รวมถึงผู้บริหารและทีมงานมีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์มากกว่า 25 ปี และมีฐานลูกค้ากระจายในหลายธุรกิจ ตลอดจนมีพันธมิตรทางธุรกิจ 2 รายที่มีความแข็งแกร่งสามารถช่วยต่อยอดในอนาคตได้ทั้งในและต่างประเทศผลักดันการเติบโตได้ต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานย้อนหลังในปี 2562 ถึง 2564 และงวด 9 เดือน 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 810.94 ล้านบาท 639.38 ล้านบาท 591.53 ล้านบาท และ 479.72 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีกำไรสุทธิในปี 2562 ถึง 2564 และงวด 9 เดือนปี 2565 เท่ากับ 166.49 ล้านบาท 109.12 ล้านบาท 77.24 ล้านบาท และ 52.39 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วนอัตรากำไรสุทธิในปี 2562 ถึง 2564 และงวด 9 เดือน 2565 ในอัตรา 20.53%,17.07%,13.06% และ 10.92% ตามลำดับ สำหรับในงวด 9 เดือนปี 2565 บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิลดลงจากในงวด 9 เดือนปี 2564 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มสูงขึ้นจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น และกลุ่มบริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายค่าบริการต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 1 เท่ามาโดยตลอด และอัตราส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน (Net IBD/E) ติดลบ 0.4-0.5 เท่า ซึ่งทำให้ DTCENT เป็นบริษัทฯที่มีสถานะ Net cash position และด้วยฐานะการเงินไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน และเงินที่ได้จากการไอพีโอในครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถรับงานโครงการขนาดใหญ่ได้ ช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน และช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ซึ่งมีส่วนในงานได้รับงานโครงการในระยะข้างหน้าอีกด้วย
“ DTCENT น่าจะเป็นหุ้นที่มีการเติบโตได้อย่างมั่นคง ภายหลังจากการระดมทุนจะทำให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคู่ค้า ลูกค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีฐานทุนที่มั่นคงและด้วยแนวโน้มของธุรกิจที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต จากความต้องการใช้บริการ GPS พร้อมด้วย การพัฒนากลุ่มงาน IoT เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น จึงมั่นใจว่า DTCENT จะเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าประทับใจให้กับผู้ถือหุ้น”ทศพลกล่าวทิ้งทาย