ในทุก ๆ วัน ผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์เฝ้าคอยการลดราคาน้ำมันหน้าปั๊ม – แม้จะเพียงเล็กน้อยก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่กำลังถีบตัวขึ้นได้ แต่ราคาหน้าปั๊มก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะมีปัจจัยที่ทำให้สามารถลดราคาน้ำมันได้ – นั่นคือ ‘ค่าการตลาดน้ำมัน’
ค่าการตลาดคืออะไร และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันได้อย่างไร?
ค่าการตลาด คือ การบวกต้นทุนและกำไรของบริษัทค้าปลีกน้ำมันเข้าไปในราคาน้ำมันแต่ละลิตร ค่าการตลาดน้ำมันจะขึ้นหรือลง สวนทางกับราคาน้ำมันที่หน้าโรงกลั่น หมายความว่า หากราคาน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันปรับสูงขึ้น ค่าการตลาดจะลดลง แต่หากราคาน้ำมันจากโรงกลั่นปรับลดลง ค่าการตลาดจะปรับสูงขึ้น และในกรณีที่ค่าการตลาดอยู่ในระดับต่ำหรือสูงเกินสมควร ผู้ค้าน้ำมันจะทำการปรับขึ้นหรือลดราคาขายปลีกที่หน้าปั๊ม
ซึ่งหลักเกณฑ์ค่าการตลาดน้ำมันที่เหมาะสมนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้กำหนดไว้เพื่อเป็นเครื่องมือติดตามค่าการตลาดและการปรับขึ้นหรือลงของราคาหน้าปั๊ม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน และในปี2563 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติกำหนดเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมไว้ที่ ระหว่าง 1.85 ถึง 2.00 บาทต่อลิตร
ยกตัวอย่างเช่น : สมมติราคาหน้าปั๊มช่วงนี้อยู่ที่ 40.09 บาท
และราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเมื่อวาน อยู่ที่ลิตรละ 30.74 บาท เมื่อบวกค่าภาษีต่าง ๆ อีก 7.40 บาท (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างคงที่) จะอยู่ที่ 38.14 บาท แปลว่าปั๊มจะได้ค่าการตลาด 1.95 บาท
แต่โดยปกติราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ถ้าลองสมมติอีกว่า วันนี้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเท่ากับลิตรละ 30.80 บาท เมื่อบวกค่าภาษี 7.40 บาท บาท จะอยู่ที่ 38.20 บาท แปลว่าปั๊มจะได้ค่าการตลาด 1.89 บาท
แต่ถ้าวันหนึ่งราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเท่ากับ ลิตรละ 30.90 บาท เมื่อบวกค่าภาษีต่าง ๆ อีก 7.40 บาท (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างคงที่) จะอยู่ที่ 38.30 บาท แปลว่าปั๊มจะได้ค่าการตลาด 1.79 บาท เมื่อเป็นแบบนี้ปั๊มก็จะขึ้นราคามันหน้าปั๊มเพื่อให้ได้ค่าการตลาดตามที่ กบง. กำหนด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราพบว่าค่าการตลาดน้ำมัน สูงกว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ กบง. กำหนดไว้มากกว่า 1 บาทต่อลิตร โดยเมื่อวานนี้และวันนี้ (4 – 5 2565) จากการติดตามของสภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่าค่าการตลาดของแก๊ซโซฮอล์ 95 เมื่อวานนี้ (4 กค.) อยู่ที่ 3.54 บาทต่อลิตร และในวันนี้ (5 กค.) อยู่ที่ 3.42 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมไปถึง 1.42 – 1.57 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ค้าน้ำมันสมควรประกาศลดราคาขายปลีกที่หน้าปั๊มให้ผู้ใช้น้ำมัน
คำถามจากผู้บริโภคคือ หากกระทรวงพลังงานสามารถกำกับดูแลให้ผู้ค้าน้ำมันลดราคาขายปลีกน้ำมันที่หน้าปั๊มของตัวเองเพื่อทำให้ค่าการตลาดลดลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมของ กบง. ประชาชนที่เป็นผู้ใช้น้ำมันควรได้ราคาน้ำมันที่ลดลงถึงกว่า 1 บาทต่อลิตร ใช่หรือไม่?
คำถามนี้ยังคงรอคำตอบที่เป็นราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ณ จุดเติมน้ำมันหน้าปั๊ม ทุกวัน