สนข. ขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม ในการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมสู่ความยั่งยืน โดยเตรียมดำเนินนโยบายขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาด้านคมนาคม จากปี 2564 สานต่อยังปี 2565
นายปัญญา ชูพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาด้านคมนาคมของ สนข. ในปี 2565 ว่า สนข. มีโครงการเด่นที่พร้อมเดินหน้าหลายโครงการ ได้แก่
1.แผนแม่บท MR-MAP เพื่อบูรณาการวางแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง หรือMR-MAP ช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินและผลกระทบอื่นที่มีต่อประชาชนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยมีการสรุปผลการศึกษาแนวโครงข่าย ศึกษาเส้นทางนำร่อง 3 เส้นทาง และจัดทำร่างแผนแม่บทโครงข่าย MR-MAP แล้ว ส่วนในปี 2565 จะมีการศึกษา Pre-Feasibility Study เส้นทางในโครงข่ายเพิ่มเติม ครบ 10 เส้นทาง และออกแบบรายละเอียดโครงการนำร่อง โดยกรมทางหลวง
2.สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Landbridge ชุมพร-ระนอง) เป็นการศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน วงเงินศึกษารวม 67.8156 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาและคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการ โดยในปี 2565 สนข. จะศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบConceptual design ของท่าเรือ จากนั้นจึงเป็นการจัด Market Sounding เพื่อทดสอบความสนใจนักลงทุนต่อไป
3.โครงการเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า (Feeder) ปัจจุบันมีการเชื่อมต่อรถโดยสารประจำทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้วจำนวน 62 เส้นทาง นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ยังได้ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิต) ใน 3 เส้นทาง ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง – ธัญญบุรีคลอง 7 สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง – ม.ธรรมศาสตร์ และสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง – แยก คปอ. และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถในเส้นทางนำร่องได้ภายในปี2565 นี้
ด้านการเชื่อมต่อท่าเรือ มีการดำเนินการแผนระยะเร่งด่วน ปี 2565-2566 โดยพัฒนาจุดเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ รวม12 จุด ได้แก่ ท่ารามหนึ่ง ท่าอโศก ท่าสะพานหัวช้าง ท่าประตูน้ำภาษีเจริญ ท่าบางหว้า ท่าเพชรเกษม 31 ท่าเพชรเกษม 35 ท่าสถานีรถไฟหัวลำโพง ท่าสะพานพระนั่งเกล้า ท่าบางโพ ท่าราชินี ท่าสาทร โดยปรับปรุงลักษณะทางกายภาพ / ป้ายบอกทิศทาง และป้ายแนะนำการเดินทาง / จัดสิ่งอำนวยความสะดวกเข้า – ออก ท่าเรือ สถานีรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะอื่น
4.การจัดทำสายการเดินเรือแห่งชาติ ปัจจุบันมีการหารือผู้ประกอบการ เพื่อทราบข้อมูลสินค้า ปริมาณสินค้า โดยเสนอผลการศึกษาฯ ต่อคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้อง และ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว จากนั้นจึงจัดตั้งบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติ และขอใบอนุญาตดำเนินงาน เพื่อเร่งรัดให้สามารถเปิดให้บริการเส้นทาง Domestic เชื่อมอ่าวไทยได้ภายใน 2565
สำหรับการพัฒนาระบบราง มีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง/ทางคู่ (TOD) จากผลการศึกษาพบว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่ทั่วประเทศถึงกว่า 177 แห่ง วงเงินลงทุน 64,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอ คค. และ ครม. พิจารณา ก่อนมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแปลงไปสู่การปฏิบัติต่อไปนอกจากนี้ สนข. ยังมีแผนผลักดันการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ เช่น สถานีรถไฟธนบุรี พื้นที่ 21 ไร่ สถานีรถไฟหัวหิน พื้นที่ 575 ไร่ และย่านบางซื่อแปลง A และ E รวมพื้นที่ 160 ไร่ ด้วย
2) การพัฒนาระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนสังคมไร้เงินสด เพิ่มการใช้ระบบรถไฟฟ้า ช่วยลดปัญหาการจราจร และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลนั้น ปัจจุบันได้มีการเปิดให้ประชาชนใช้ระบบ EMV ในการจ่ายค่าโดยสารในระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว และในปีนี้จะขยายผลสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงต่อไป
นอกจากนี้ การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ได้มอบกระทรวงคมนาคมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางถนนเพื่อการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งอันดามัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามันครอบคลุมจังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ตรัง และสตูล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ
“สนข. ยังมีภารกิจอื่นที่ผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้รองรับความต้องการของประชาชนในทุกรูปแบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน”