จากกรณีน้ำมันรั่วไหล ณ ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง (B4) ลงทะเล ในวันที่ 7 กันยายน 2564 ภายในเขตท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรี ได้รับแจ้งจากสำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 เวลา 02.15 น. พบคราบน้ำมันในทะเลบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ B4 จากการตรวจสอบพื้นที่พบว่าเรือ M.V. ACX PEARL เป็นเรือสัญชาติไลบีเรีย IMO NUMBER 9360623 มีนาย VOLODYMYR SADOVSKY เป็นนายเรือ ได้ปั๊มน้ำปนน้ำมันออกจากเรือ ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิง รั่วไหลออกนอกตัวเรือลงสู่ทะเล โดยมีปริมาณ 900 ลิตร
ในส่วนของกรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรี เข้าบูรณาการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือ เข้าร่วมแก้ไขในทันที เพื่อขจัดคราบน้ำมันให้เร็วที่สุด ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเรือขจัดคราบน้ำมัน และอุปกรณ์จัดเก็บคราบน้ำมันเพื่อเข้าระงับน้ำมัน ใช้บูมล้อมรอบตัวเรือ เพื่อไม่ให้คราบน้ำมันไหลออกเป็นวงกว้าง และให้กักเรือฯ ลำดังกล่าว พร้อมได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษกับเจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือ ในฐานะ “เจ้าท่า” กับสถานีตำรวจแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
ในข้อหาการกระทำความผิดตามมาตรา 119 ทวิ ของพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งใดๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเล ภายในน่านน้ำไทยอันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไข สิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นของตอนกฎหมาย
ทั้งนี้ นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้สั่งการให้ประชุมผู้เกี่ยวข้องโดยด่วน พร้อมด้วย นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ผ่าน Vdo Conference ร่วมกับ ท่าเรือแหลมฉบัง , ท่าเรือกรุงเทพ , สมาคมเรือภาคเอกชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดทางกฎหมาย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมนี้ได้สั่งการ ห้ามปล่อยเรือฯ ที่กระทำความผิดจนกว่าจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเรียบร้อย และให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เข้มงวด กวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างมีระบบแบบแผนและเป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างชัดเจน เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก รวมถึงการเชื่อมโยงกล้อง CCTV แต่ละท่าเรือ โดยให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจตราป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ตลอดจนรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามนโยบาย “ IMO ต้องผ่าน น่านน้ำไทยต้องปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนากิจการพาณิชยนาวีไทย ”