ว่ากันว่าการบรรทุกน้ำเกินที่กฎหมายกำหนดหรือที่รู้กันดีในป่าดงดิบสิบล้อว่า“สายแบก”ไม่ว่าจะอยู่ในยุคคุณปู่สู่ยุคคุณหลานๆตำนานสายแบกก็ยังไม่เคยถูกปลดแอกได้สักที แม้ภาครัฐจะงัดบทลงโทษตามกฎหมายให้หนักหน่วง หวังขจัดปัญหาหนักอกนี้เพื่อลดผลกระทบต่อถนนหนทางให้พังเสียหายที่ละปีภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนที่พังในแต่ละปีหลายหมื่นล้านบาท
ทว่า ไม่เคยหายและตายไปจากวงจรอุบาทว์นี้ เคยมีผู้รู้เคยวิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่าปัญหาแบกน้ำหนักที่ยังแก้ยังไงก็แก้ไม่ตกก็เพราะมีทฤษฎีสมประโยชน์ที่ได้ฝั่งรากลึกในกมลสันดานผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รัฐน้ำเลวบางคนบางกลุ่มที่ภายใต้ขบวนการจ่าย“ค่าบรรณาการ”หรือ “ส่วยทางหลวง”ให้กับเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่เป็นใบเบิกทางให้สายแบกได้วิ่งสะดวกโยธิน
จริงหรือไม่จริง?…วิญญูชนทั้งหลายเก็บไปคิดวิเคราะห์กันเองล่ะกัน!
มาขบวนล่าสุด กรมทางหลวง ได้เปิดสถิติการจับกุมสิงห์รถบรรทุกน้ำหนักเกินปีงบ 64 พบฝ่าฝืน 2,574 คัน ย้ำสายบรรทุก“หิน-ดิน-ทราย”นำโด่งมากสุดถึง 33% พร้อมขู่ผู้ประกอบการ “ขนส่งโรงโม่หิน-ท่าทราย” ห้ามบรรทุกน้ำหนักเกินกว่า กม.กำหนดเด็ดขาด ฝ่าฝืนจัดหนักปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท–จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามรายงานข่าวระบุด้วยว่าช่วงที่ผ่านมาทางสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ (สคน.) กรมทางหลวง ได้ดำเนินการตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐานกำหนดอย่างเข้มงวดต่อเนื่องในพื้นที่โครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบการเข้าใช้สถานีตรวจสอบน้ำหนัก และหน่วยตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ เฉพาะเดือน ส.ค. 2564 ผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินมีการกระทำผิดจำนวน 235 คัน
ทั้งนี้ ตามสถิติผลจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในปีงบประมาณ 64 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563-31 ส.ค.64 พบว่ามีการกระทำผิดทั้งหมด 2,574 คัน แบ่งเป็นประเภทขนส่งวัสดุตามลำดับหนึ่งเป็นประเภทขนส่ง “หิน-ดิน-ทราย”ทำผิดมากถึง33% รองลงมาเป็นประเภทสินค้าเกษตร 19% วัสดุก่อสร้าง 18% และอื่นๆอีก 14% เช่น ประเภทตู้สินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ทึบ รถขนส่งพัสดุ เป็นต้น ส่วนประเภทไม้ 8% และรถขนเครื่องจักร น้ำมัน แก๊ส และของเหลว 4%
นอกจากนี้ ทล.ยังกำชับไปยังผู้ประกอบการขนส่งโรงโม่หิน ท่าทรายไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 61 ซึ่งกำหนดไว้ว่าเพื่อรักษาทางหลวง
อีกทั้งเพื่อป้องกันกำกับและตรวจสอบการบรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐานของรถบรรทุกขนส่งที่สัญจรให้เกิดความปลอดภัย และป้องกันการชำรุดพื้นผิวถนนในระยะยาว ช่วยประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน รวมทั้งไม่ทำให้ถนนชำรุดเร็ว สัญจรสะดวก และปลอดภัย เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
โดยผู้อํานวยการทางหลวงมีอํานาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่กําหนด ซึ่งอาจทําให้ทางหลวงเสียหาย และการกระทำผิดดังกล่าวจะได้รับโทษตามมาตรา 73/2 ต้องระวางโทษจําคุกไม่หกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นอกจากนี้ ทางกรมทางหลวงยังขอความร่วมมือให้ผู้ใช้ทางปฏิบัติตามกฎหมายจราจรการใช้ถนนเส้นทางนั้นๆ รวมทั้งประชาชนช่วยสอดส่องดูแล หากพบรถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งบนถนนทางหลวง สามารถร้องเรียนหรือแจ้งแขวงทางหลวงในพื้นที่นั้นๆ หรือได้ที่กรมทางหลวงสายด่วน 1586 กด 5 โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม. เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบต่อไป
ลืมบอกไปว่านอกจากการแบกน้ำหนักที่มีผลต่อถนนหนทางที่แต่ละปีภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนที่พังในแต่ละปีหลายหมื่นล้านบาทแล้ว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบการแข่งขันเกิดการเสียเปรียบเมื่อเข้าเสนอราคาค่าบรรทุกแข่งสำหรับผู้ประกอบการที่ยึดกฎหมาย เพราะต้องแบกต้นทุนต่อตันที่แพงกว่ากลุ่มรถบรรทุกที่ละเมิดกฎหมาย
ที่น่าตกใจมีข้อมูลเชิงลึกระบุว่ารถบรรทุกเกือบ 1 แสนคันที่วิ่งบรรทุกน้ำหนักเกินได้ เพราะมีการ“จ่ายส่วย”ให้เจ้าหน้าที่น้ำเลวบางกลุ่ม หวยออกมา3ตัวเยี่ยงนี้ก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีกี่ชาติวงจรอุบาทว์นี้…ถึงจะตายไปจากสังคมไทย!
…คงชาติหน้าตอนบ่ายๆ!?
:กระบี่ไร้นาม