วิกฤติโควิดทำพิษกระทบแผนเลื่อนเปิดโดยไม่มีกำหนดการเดินเรือเฟอร์รี่ข้ามภูมิภาคเส้นทางแรก“ออก-ใต้”สัตหีบ-สงขลา เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะเปิดเดินเรือให้บริการขนส่งสินค้า-ประชาชนทันที เพื่อเพิ่มศักยภาพขนส่งทางน้ำ ลดต้นทุน-อุบัติเหตุทางถนน-ฝุ่นพิษ PM 2.5 เอื้อประโยชน์ทด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยั่งยืน
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดบริการเดินเรือเฟอร์รี่ข้ามภูมิภาคสัตหีบ-สงขลาโดยซี ฮอร์ส เฟอร์รี่ ว่าโครงการดังกล่าวเดิมมีแผนเปิดเดินเรือเชิงพาณิชย์ดังกล่าวกลางปีนี้ แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะการเข้มงวดเดินทางข้ามจังหวัดต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงจะเปิดเดินเรือให้บริการขนส่งสินค้า และประชาชนทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางรูปแบบใหม่ๆ
“ก่อนหน้าน้าทางบริษัท ซี ฮอร์สฯได้ทดสอบระบบการเดินเรือไปกลับซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 20 ชม. ต่อเที่ยว ช่วยร่นระยะทางการใช้ถนนจาก 1,128 กม. เหลือ 609 กม. (ร่นระยะทางได้ 519 กม.) ใช้เวลาน้อยกว่าที่รถบรรทุกเดินทางทางถนน(ซึ่งต้องรวมเวลาพัก) ประมาณ 5 ชม.ได้ตามเป้าหมาย โดยจะเริ่มให้บริการกับลูกค้าในเครือข่ายธุรกิจเป็นอันดับแรก เพื่อหารายได้จากการขนส่งสินค้าข้ามภูมิภาค ก่อนขยายบริการรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายต่อไป เมื่อการแพร่ระบาดฯ ยังคงรุนแรง จึงต้องชะลอไปก่อน ส่วนจะเปิดให้บริการได้เมื่อใดนั้นต้องขอดูสถานการณ์ก่อน”
อธิบดีกรมเจ้าท่าย้ำว่าทางซี ฮอร์สฯ ยังมีแผนเพิ่มขีดความสามารถ หลังเปิดบริการเดินเรือเฟอร์รี่ลำแรกแล้ว หากปริมาณผู้โดยสารสูงถึง 60% จะลงทุนเรือเฟอร์รี่เพิ่มอีก 1 ลำด้วย สำหรับเรือ The Blue Dolphin มีหมายเลขทะเบียนเรือ 640000020 ขนาดความยาว 136.6 เมตร กว้าง 21 เมตร ขนาด 7,003 ตันกรอส บรรทุกรถ 10 ล้อ ได้ครั้งละ 80 คัน รถยนต์ส่วนบุคคลได้ 15-20 คัน คนประจำเรือ 30 คน บรรทุกคนโดยสารได้ 586 คน ทำความเร็วได้ประมาณ 18-20 น็อต (31.48 กม.ต่อชม.)
“เรือ The Blue Dolphin มีแผนเดินเรือในเส้นทางระหว่าง จ.ชลบุรี-จ.สงขลา และจะขยายเส้นทางเชื่อมโยงเข้ากับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำเส้นทางนี้จะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงอีอีซี เข้ากับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ช่วยเพิ่มศักยภาพของการขนส่งทางน้ำ ลดต้นทุนและอุบัติเหตุจากการขนส่งทางบก และลดปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยั่งยืน”